บทสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ยังต่างประเทศ ครั้งนี้ผมอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกับผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เธอคือคุณกุหลาบ ไทรโพธิ์ภู่ และนี่คือ มุมมอง ประสบการณ์ และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ผมอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับคุณกุหลาบ ไทรโพธิ์ภู่ ชื่อเล่น แม้ว
ย้ายมาอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Switzerland)
เมือง: อุนเตอร์เซน (Unterseen) รัฐเบิร์น (Bern)
รูปถ่ายทั้งหมดนี้คือผลงานตัวอย่างส่วนหนึ่งของคุณกุหลาบ ไทรโพธิ์ภู่
YouTube: Swiss Stories เรื่องเล่าจากสวิส
เริ่มตั้งแต่แรกเลยคุณมาอยู่ประเทศเทศสวิตเซอร์แลนด์เพราะอะไร และคุณอาศัยอยู่ที่เมืองอะไรในประเทศเทศสวิตเซอร์แลนด์ครับ
ตอบ
ดิฉันมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ด้วยเหตุผลของการมีครอบครัวค่ะ และอยู่ที่เมืองอุนเตอร์เซน รัฐเบิร์นค่ะ
(แถม..ดิฉันพบรัก กับหนุ่มสวิสที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนั้นดิฉันอายุ 39 ปี ไปเรียนภาษาและเรียนคอร์สดูแลผู้สูงอายุ วัตถประสงค์หลักคือสอบภาษาอังกฤษให้ผ่าน เพื่อไปเป็นพยาบาลที่อเมริกา แต่สอบไม่ผ่าน ยังโชคดีได้ทำงานในบ้านพักคนชรา พอเข้าปีที่ 2 ที่อยู่ที่นั่น ก็ได้รู้จักกับหนุ่มสวิส เรียนรู้กัน และเขาขอให้มาดูว่าบ้านเขาเป็นอย่างไร เราจะอยู่ได้ไหม ก่อนตัดสินใจ ก็ลาออกจากงาน เพราะวางแผนไว้แล้วเช่นกัน และเดินทางมาสวิสกับเขา เป็นเวลา 3 เดือน มาอยู่กับพ่อแม่เขา 1 เดือน และท่องเที่ยว พอครบกำหนดวีซ่า เราทั้งสองไปเมืองไทย ไปดำเนินเรื่องขอฉันแต่งงานกับพ่อแม่ฉัน และดำเนินเรื่องเอกสารเพื่อการมาแต่งงานในสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งวีซ่ามาแต่งงานด้วย ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเมื่อทุกอย่างผ่าน ก็เดินทางมาถึงสวิตเซอร์แลนด์วันที่ 29 มกราคม 2009)
คุณเกิดและเติบโตที่ไหนที่ประเทศไทยครับ ช่วยบอกเราได้ไหมครับว่าชีวิตวัยเด็กนั้นเป็นอย่างไรครับ
ตอบ
ดิฉันเกิดที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พออายุ 4 ขวบ ครอบครัวย้ายมาอยู่กรุงเทพ ดิฉันเติบโต เรียนหนังสือ จนจบมหาวิทยาลัย ทำงาน ในกรุงเทพค่ะ
ชีวิตในวัยเด็ก เป็นชีวิตของพี่สาวคนโต มีน้องชายอีกสองคน ในครอบครัวฐานะปานกลาง คุณพ่อทำอาชีพเป็นรับจ้างสารพัด และรับเหมาก่อสร้าง คุณแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูกสามคน ใช้เวลาว่างเย็บผ้า และหาบผ้าขาย และช่วงหลังๆ เปิดร้านขายกับข้าว ทำขนมครก ขายปลาหมึกย่างหน้าบ้าน ช่วยคุณพ่อหารายได้ ตัวดิฉันเอง ช่วยเหลือพ่อแม่ดูแลน้อง งานในบ้าน เท่าที่สามารถทำได้ตามอายุ ช่วงปิดเทอม ก็จะหารายได้พิเศษ เป็นลูกจ้างทำถ้วยกระดาษกับอาๆ มีรายได้มาช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อกับแม่ เช่น ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือบ้าง เพราะดิฉันสมัยเด็กๆ เห็นว่าพ่อแม่ลำบาก ทำงานเยอะ เพื่อดูแลพวกเรา เราช่วยได้ต้องช่วย คือไม่รู้ว่า ตอนนั้นเราคิดได้อย่างไร แต่คิดแบบนี้ค่ะ อีกเรื่องคือ เป็นเด็กที่รักการเรียน เพราะคิดว่าการเรียนที่ดี จะช่วยให้ทำงานที่ดี มีรายได้พอ ที่จะช่วยพ่อแม่ให้ชีวิตสบายขึ้น และโชคดีที่มีแต่เพื่อนๆ ดีๆ ชวนกันเรียน ทุกวันนี้ยังคบกันอยู่กับเพื่อนสมัยมัธยม เป็นเพื่อนรัก เพื่อนที่หวังดีต่อกันจริงๆ ค่ะ
คุณทำอาชีพอะไรครับ และคุณเคยทำอาชีพอะไรมาบ้างครับตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ครับ / คุณพูดภาษาได้ไหม คุณคิดว่าภาษายากสำหรับคุณไหมและคุณใช้เวลาเรียนรู้ฝึกฝนนานแค่ไหนกว่าคุณจะพูดภาษาจนเข้าใจและสื่อสารได้ และคุณพูดภาษาอื่นได้อีกไหม
ตอบ
ตั้งแต่ 1 ตุลาคมปี 2021 ทำงาน ตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล ในบ้านพักคนชราแถวบ้านค่ะ ทำงาน 40 % คืออาทิตย์ละ 2 วันค่ะ
และในช่วงที่ย้ายมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ใหม่ ประมาณ 2-3 ปี คือ ค.ศ. 2009-2011 ไม่ได้ทำงาน เป็นแม่บ้าน ให้เวลาปรับตัวกับชีวิต กับสังคมใหม่ๆ และเรียนภาษาเยอรมันด้วยตนเอง พอชีวิตเริ่มเข้าที่ เข้าทาง มีงานจากเพื่อนบ้าน ที่ลูกชายเขาเคยเป็นลูกศิษย์สามี ให้ไปช่วยทำสวน ทำความสะอาดบ้าน ให้อาหารกระต่าย แมว หรือพาสุนัขไปเดินบ้าง เขามีบ้านอีกหลังที่เมืองอื่น บ้านที่นี่ก็จะไม่ค่อยมีคนอยู่ เขาก็จะให้ดิฉันไปช่วยดูแล ด้วยที่เขาไว้ใจเรา ระหว่างนี้ก็ดำเนินเรื่องเพื่อทำงานเป็นพยาบาลในสวิตเซอร์แลนด์ กับสภากาชาดสวิสด้วย และก็ได้งานพิเศษไปดูแลภรรยาของเพื่อนรุ่นพี่สามี เขาป่วยเป็นอัลไซเมอร์แบบกระทันหัน และเขารู้ว่าดิฉันเป็นพยาบาลมาจากเมืองไทย ก็เลยให้ช่วยไปอยู่เป็นเพื่อน อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อตัวสามีจะได้พักสมองบ้าง นอกจากดิฉันแล้ว ยังมีเพื่อนเขาอีก 2 คน ที่ผลัดเปลี่ยนกันไปดูแลในช่วงบ่าย ให้สามีได้พักได้ ในช่วง 6 เดือนแรก ทำแบบจิตอาสา คือไม่รับเงิน แต่เขาจะให้เป็นบัตรกำนัล ด้วยความที่เขาเกรงใจ แต่พอนานไป ก็เปลี่ยนมาให้เป็นค่าจ้าง ราคามิตรภาพ ก็ทำอยู่หลายปี จนสุดท้ายคุณเขาอาการหนักขึ้นอยู่บ้านไม่ได้ ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา
ดิฉันพูดสื่อสารภาษาท้องถิ่น เบิร์นดุช ภาษาของคนแถบรัฐเบิร์น (มีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน) และใช้ภาษาราชการในแถบที่ดิฉันอยู่ได้ นั่นคือ ภาษาเยอรมัน สอบผ่านในระดับ B1 การเรียนภาษาสำหรับดิฉัน คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากมาก ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ยากในตัวเองอยู่แล้ว แต่ดิฉันต้องเรียนสองภาษาเกือบจะในเวลาเดียวกัน เพราะภาษาท้องถิ่นของที่นี่ จะเป็นภาษาที่คนเยอรมันเอง ถ้าไม่ได้สัมผัสมาก่อนจะไม่เข้าใจว่าเขาพูดอะไรกัน ดิฉันเริ่มเรียนภาษาที่เข้าใช้ในชีวิตประจำวันก่อน เพราะสามีเป็นคนบอกว่า ดิฉันต้องเป็นคนปรับตัวเข้ากับครอบครัว เพื่อนๆ สังคมของที่นี่ เพราะโดยปกติคนที่นี่เขาคุยกัน เขาใช้ภาษาเขา ไม่ใช่ภาษาเยอรมันที่เป็นภาษาราชการ ที่ประเทศเยอรมันใช้ เพราะฉะนั้นเวลาไปไหนมาไหน หรือทำอะไร เราจะเข้าใจ และคนที่นี่เขาจะไม่พูดเยอรมันเพื่อเราคนเดียว เช่น เวลาเราไปกินข้าวบ้านเพื่อน หรือเพื่อนมากินข้าวบ้านเรา เวลาคุยกัน เขาอย่างน้อย 3 คน พูดภาษาเบิร์นดุช พอหันมาหาเราจะให้เขาพูดภาษาราชการเยอรมัน มันเป็นไปไม่ได้ และในขณะเดียวกันสามีก็สั่งหนังสือเรียนภาษาเยอรมัน สำหรับฟัง พูด อ่าน เขียน มาให้ดิฉันเรียนด้วยตนเอง จนจบระดับ B2 แต่สอบผ่านระดับ B1 ใช้เวลาจริงๆ ก็ประมาณ ไม่ถึงปี ก็สื่อสารได้แล้วในระดับชีวิตประจำวันง่ายๆ แต่การสื่อสารมีหลายระดับ ก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาจนบัดนี้ยังเรียนอยู่ค่ะ
ดิฉันมีภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ภาษาที่สองคือ ภาษาอังอฤษ ภาษาที่สามคือ ภาษาเบิร์นดุล และสี่คือ ภาษาเยอรมัน ค่ะ
ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่ามันยากไหมสำหรับการที่คนไทยต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตแบบคนสวิสเซอร์แลนด์ แล้วถ้ามันยาก มันยากยังไง และอะไรเป็นเรื่องที่ปรับตัวยากที่สุด และเมืองที่คุณย้ายไปอยู่ มีคนไทยอาศัยอยู่มากไหม และคุณคิดว่าคนไทยที่นั่นเขามีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายดีไหม อย่างไร
ตอบ
เรื่องการปรับตัวสำหรับดิฉันนั้น ไม่ได้ยากมาก คนแรกที่เราต้องปรับตัว ก็คือ สามีค่ะ ช่วงแรกๆ เขาถามอะไร เราก็จะแล้วแต่เธอ แม้แต่เวลาโกรธ เราก็จะเงียบ เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ที่รู้ว่าเราต้องปรับเรื่องนี้คือ ตอนที่ไปเที่ยวหาเพื่อนเขาที่ประเทศสโลเวเนีย เขาคงอึดอัดกับเรา ก็เลยไปเล่าให้เพื่อนฟังว่า เราไม่เหมือนเพื่อน ที่มีอะไรก็โผงผางบอกกัน แต่นี่ไม่รู้อะไรก็เงียบ เราได้ยินดังนั้น ความมีอีโก้ ก็พูดขึ้นว่า ฉันก็เป็นฉัน อย่าเปรียบเทียบกับใคร และเหตุการณ์วันนั้น ทำให้ดิฉันปรับตัวเรื่อง การแสดงออกทางความคิด คือ คิดอย่างไร พูดออกไป แต่ก็ต้องฝึกใช้ศิลปะการพูดเรื่อยๆ ค่ะ ไม่มีเรื่องใดที่ยากที่สุดค่ะ
เมืองที่ตัวเองอยู่นั้น ชื่อว่า เมือง Unterseen คนจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเมือง Interlaken คนส่วนใหญ่รู้จัก เพราะเป็นเมืองผ่านไปเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ อีกเมือง คือ Matten 3 เมืองนี้อยู่ติดกัน มีประชากรรวมกันประมาณ 15,000 คน น่าจะมีคนไทยอยู่ประมาณ 80-100 คนได้ และคนไทยที่นี่ ส่วนใหญ่มาอยู่เพราะแต่งงานกับชาวสวิส หรือกับชาวอียู ส่วนใหญ่ก็ทำงานเป็นลูกจ้าง ทำความสะอาดบ้าง เป็นพนักงานบริการร้านอาหาร ขายของที่ระลึก เป็นผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เป็นแม่บ้านดูแลลูกเล็กบ้าง บางคนก็เปิดร้านนวด ร้านอาหารเอง ก็ดูว่าน่าจะมีความสุขกันดี มากบ้าง น้อยบ้างตามอัตภาพของแต่ละคนค่ะ
ลักษณะนิสัยคืออะไรของคนสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั่วไปแล้วคนในสวิตเซอร์แลนด์ชอบทำอะไร และคุณบอกผมได้ไหมว่าผู้ชายสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างไร(บุคลิกลักษณะ) ผู้หญิงสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างไรและครอบครัวของคนสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างไร
ตอบ
ต้องบอกว่าอ้างอิงเฉพาะคนสวิสที่ดิฉันรู้จักนะคะ เขาเป็นคนตรงไปตรงมา มีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง โดยไม่โกรธกัน ตัวอย่างจากสามีและเพื่อนๆ ของเขา เวลาเขาแสดงความคิดเห็นกัน เถียงกันหน้าดำหน้าแดง จนเราคนฟังกลัวจะบาดหมางกัน แต่เปล่าเลย พอจบเรื่อง เขาก็คุยกันปกติดี คนสวิสเป็นคนรักธรรมชาติ รักโลก เขามองว่าเราทุกคนต้องช่วยกัน เขามองเรื่องธรรมชาตินานออกไปเป็นร้อย เป็นสองร้อยปีว่าจะเป็นอย่างไร คนในอนาคตจะอยู่อย่างไร ถ้าคนในวันนี้ไม่ดูแลธรรมชาติ ดูแลโลก บางทีเราฟังก็เออ…เขาคิดไกลจัง ไม่เอาเปรียบใคร และไม่ให้ใครเอาเปรียบ รักษาสิทธิของตัวเอง และไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลอื่นๆ เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง และรักกีฬา รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
ผู้หญิงสวิส หรือคนไม่ว่าชาติใดในโลก มีความเป็นมนุษย์ที่มีความโลภ โกรธ หลง อิจฉา นินทา ฯลฯ เหมือนๆ กัน หากคนๆ นั้น ยังไม่ได้ขัดเกลา ส่วนตัวเจอเพื่อนร่วมงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ สุบบุหรี่ ดิฉันเองก็ยังงงว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ส่วนเรื่องประสาผู้หญิงที่ชอบพูดถึงคนอื่นๆ นั้น ไม่แน่ใจว่ามีมากไหมแต่คงมี ด้วยว่าตัวดิฉันเองไม่ค่อยได้สุงสิง เวลาไปทำงานก็ทำงาน เวลาพักส่วนใหญ่ก็ดื่มกาแฟ หรือกินอาหาร เวลาก็หมดแล้ว ไม่ค่อยได้สนทนากับใคร เพราะไม่สูบบุหรี่ด้วย ก็ไม่ได้อยู่วง แต่ก็เคยมีพูดกันเหมือนกันเวลาประชุมที่มีดูกันว่า วันนี้ต้องขึ้นเวรกับใคร ถ้าคนถูกใจกัน ก็จะทำงานอย่างมีความสุข ถ้าไม่ก็เป็นตรงข้าม ตัวดิฉันบอกกับเพื่อนๆ ว่า ฉันไม่เคยดูเลยว่าจะทำงานกับใคร เพราะตารางการทำงานจดไว้แค่ว่า เราทำงานวันไหนบ้าง เวลาอะไรบ้างเท่านั้น เพราะทำงานกับใครก็มีความสุขทั้งนั้น เพราะดิฉันคิดว่าเขาทุกคนเป็นคนที่น่าทำงานด้วย
ครอบครัวคนสวิส ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นครอบครัวเดี่ยว เช่น ครอบครัวสามี พ่อแม่มีลูก 4 คน พอเข้าวัยทำงาน ก็ย้ายออกจากบ้าน สามีย้ายออกจากบ้านคนสุดท้าย เพราะเป็นลูกคนสุดท้อง แต่ก็ย้ายช้าสุดด้วย ตอนนั้นอายุ 26 ปี เพราะยังหาตำแหน่งงานที่มั่นคงไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นครูมัธยม ตอนเขาจบยังไม่มีตำแหน่งให้เขาเป็นครูประจำ เงินเดือนที่ได้ก็ไม่ได้เยอะ ก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่จนได้ตำแหน่งครูจึงย้ายออกมา แล้วพ่อแม่ก็อยู่กัน 2 คน มีลูกๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนไปกันหา และมีการรวมญาติปีหนึ่งก็ 3-4 ครั้ง เช่น วันเกิดพ่อ แม่ วันคริสต์มาส เป็นต้น แต่พ่อแม่ตอนที่ยังแข็งแรงอยู่ เขาก็มีเพื่อนพากันไปเที่ยวกับคณะที่โบสถ์จัดทริปให้ จนสุดท้ายตอนที่แม่และพ่อต้องย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา เป็นเรื่องเศร้าของพ่อ เพราะเขาไม่อยากไปอยู่ แต่พ่อก็ดูแลแม่ที่เป็นโรคความจำเสื่อมไม่ไหวแล้ว ลูกๆ ก็มีภาระของเขา วันที่พ่อกับแม่ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา ลูกๆ รวมทั้งตัวดิฉันเอง ก็ไปช่วยย้ายของ พาไปอยู่ ตอนพ่อเดินออกจากบ้าน พ่อจับตัวบ้าน แล้วร้องไห้ พูดกับบ้านว่า คงไม่ได้กลับมาแล้ว เราเห็นแล้วก็สะท้อนใจ เศร้าจับใจ และพ่อไปอยู่บ้านพักคนชราได้ประมาณ 3 เดือน อยู่จนครบวันเกิดปีที่ 93 ปี พ่อก็จากไป แบบฉันพอแล้ว ชีวิตฉันเห็นมาหมดแล้ว ปล่อยฉันไป คือ พ่อตัดสินใจเองว่าไม่อยู่แล้ว แล้วเขาก็ไม่กินอะไร ทำให้เราก็เห็นสัจจะธรรมไปด้วย คนเราก็เท่านี้ เมื่อปล่อยได้ ว่างได้ ก็จากไปแบบสงบ
และต้องบอกว่าตัวเองโชคดี ได้มาอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น เขารักเราเหมือนลูกเขาคนหนึ่ง ตอนที่ดิฉันอายุครบ 50 ปี ก็เชิญพ่อแม่ พี่ๆ พี่เขย พี่สะใภ้ ของสามี มากินข้าวที่บ้าน ดิฉันก็กล่าวคำขอบคุณที่ให้ความเป็นกันเอง อบอุ่นกับฉันด้วยดีเสมอมา พ่อกับแม่ก็บอกว่า เขาคิดว่าเราเป็นลูกเขาคนหนึ่งเหมือนกัน ได้ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจมากก และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ดิฉันปฏิบัติกับทุกคน คือ ใช้คำว่า ใจเขาใจเรา เราชอบให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เราต้องปฏิบัติเช่นนั้นกับเขาก่อน แต่ถ้าเขาจะไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนที่เราปฏิบัติกับเขา ก็เป็นเรื่องของเรา รู้แค่ว่า ฉันจะทำแบบนี้ แล้วก็ทำ ไม่หวังผลลัพท์ ชีวิตก็มีความสุข ในแบบที่ตัวเองควบคุมได้
ค่าครองชีพที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เเป็นอย่างไร อะไรที่คุณคิดว่ามันแพงเกินไป (3 things) และอะไรที่คุณคิดว่ามันมีคุณค่าเหมาะสมกับราคา (3 things)
ตอบ
ค่าครองชีพในสวิตเซอร์แลนด์ แพงกว่าที่ไทย และนิวซีแลนด์ที่ดิฉันเคยอยู่มา แต่คิดว่าถูกกว่าที่ประเทศนอร์เวย์ ที่เคยไปเที่ยวมา เฉพาะเรื่องอาหารการกิน ของในซูเปอร์มาเก็ตค่ะ
จริงๆ เมื่อพูดถึงเรื่องค่าครองชีพ ต้องรู้ก่อนว่า ค่าครองชีพ คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่าง ๆ
ซึ่งหลักๆ ก็มี
– ที่อยู่อาศัย รวมถึง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากำจัดขยะทั้งหลาย ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่อยู่อาศัย ขึ้นกับขนาด และทำเล เป็นบ้าน หรือเป็นอพาตเม้นท์ เช่าหรือซื้อเป็นของตัวเอง แล้วจ่ายค่าดอกเบี้ยกับธนาคาร จึงบอกราคาได้ไม่แน่นอน แต่ก็ต้องบอกว่าแพง แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ เพราะมีรายได้ที่สูงเพียงพอ
– อาหาร คิดว่าก็ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส แม้กระทั่งออสเตรีย
– ยารักษาโรค ในสวิตเซอร์แลนด์คือ การประกันสุขภาพ ที่ทุกคนต้องมี กฎหมายบังคับ ถือว่าเป็นค่าครองชีพที่แพงมาก ทุกคนต้องเสียอย่างน้อยก็ประมาณ 3,600 ฟรังค์ต่อปี ที่เวลาเจ็บป่วยไปหายังต้องจ่ายเองก่อน 2500 ฟรังค์ แต่สำหรับคนที่รายได้น้อย รัฐก็จะช่วยสนับสนุน ซึ่งแต่ละรัฐจะไม่เท่ากัน โดยรัฐจะดูจากรายได้ต่อครอบครัว ตอนยื่นภาษี ต้องบอกว่าสวิตเซอร์แลนด์ คุณจะโกหกไม่ได้ เขาตรวจสอบได้หมด ทุกอย่างจะส่งข้อมูลถึงกัน
– เครื่องนุ่งห่ม แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่คน ส่วนตัวดิฉันเอง ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่มาเกิน 5 ปี เพราะใช้ของที่คุณภาพดี แต่อยู่ทนทานเป็น 10 ปี จึงคุ้มค่า และเป็นคนไม่ตามแฟชั่นค่ะ
– เครื่องอำนวยความสะดวก อื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่นี่คนส่วนใหญ่จะซื้อบัตรลดครึ่งราคา จ่ายปีละ 165 ฟรังค์ ไปไหนมาไหน ใช้บริการสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถเมล์ เรือ ขึ้นกระเช้าก็จะได้ส่วนลดครึ่งราคา ส่วนคนที่ต้องใช้ทุกวันเพื่อการเดินทางไปทำงาน เขาก็จะซื้อตั๋วปี ก็ถือว่าเป็นการใช้ที่คุ้มค่า เพราะบริการสาธารณะในสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นบริการที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ การสื่อสารใช้โทรศัพท์ ส่วนตัวใช้แบบเติมเงิน เพราะไม่ค่อยโทรหาใคร จะใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการอื่นๆ เช่น ใช้ Internet ได้ไม่จำกัด สิ่งเหล่านี้สำหรับดิฉันถือว่าเป็นของสิ้นเปลือง จ่ายรายเดือนขั้นต่ำ 29 ฟรังค์ แต่ตัวเองเติมเงินครั้งหนึ่ง 60 ฟรังค์ บางทีใช้นานกว่า 1 ปี เพราะถ้าจะใช้ Internet ก็จะใช้ที่บ้าน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว เดือนละประมาณ 40 ฟรังค์ และเราไม่ใช่นักธุรกิจ หรือมีอะไรที่จำเป็นต้องใช้เวลาออกนอกบ้านค่ะ
สิ่งที่คิดว่าแพงเกินไป คือ
1. กาแฟ ในร้านอาหาร แก้วละ 4.50 ฟรังค์เป็นอย่างต่ำ ซึ่งสิ่งที่ทำง่ายมาก แค่กดปุ่ม เมื่อเทียบกับอาหารหนึ่งจาน ที่ต้องทำหลายอย่างกว่าจะได้อาหารออกมา 1 จาน นะคะ แต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นเครื่องทำกาแฟที่แพง
2. ไวน์ ในร้านอาหาร แพงมาก
3. ค่าบริการโทรทัศน์ วิทยุ ทุกบ้านต้องจ่าย ถึงแม้จะไม่ได้ใช้
ส่วนสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าเหมาะสมกับราคา คือ
1. การจ่ายประกันสุขภาพ ถึงแม้ว่าต้องจ่ายแพง บางทีหลายปีไม่ได้ใช้ แต่ก็ต้องจ่าย เราก็ถือว่า ดีแล้วที่เราสุขภาพดี ก็ได้ช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยไป ด้วยระบบนี้เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นคือทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากรัฐ ได้ทุกคน อย่างเท่าเทียมกันจริงๆ ไม่มีเลือกชั้นวรรณะใด ในสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าไปห้องฉุกเฉิน คุยต้องรอเหมือนกัน ประมาณนั้นค่ะ
2. ภาษี ถึงแม้ในสวิตเซอร์แลนด์จะได้แพงมาก แต่ก็ถือว่ามาก ถ้าจัดสรรจัดเก็บเงินไว้จ่ายภาษีปลายปีไม่พอ ชีวิตจะลำบากทันที แต่สิ่งที่ได้รับ โดยดูจากถนนหนทาง ระบบจัดเก็บขยะมูลฝอย การแยกขยะต่างๆ แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่เด่น มีสวนสาธารณะ เส้นทางเดินป่า เดินเขาในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องบอกว่า เลิศมาก รวมทั้งระบบการศึกษาที่เด็กทุกคนได้เรียนฟรีจนจบชั้นปีที่ 9-10
3. อาหาร ก่อนถึงวันหมดอายุ ก็จะนำมาลดครึ่งราคา ถือว่าคุ้มค่าหลายอย่าง คนซื้อก็ได้ใช้ของที่ยังใช้ได้ และถูก และลดปัญหาขยะ ลดโลกร้อน เพราะกว่าแต่ละอย่างจะออกมาเป็นผลผลิตให้เราบริโภคนั้น ผ่านขั้นตอนเยอะมาก แล้วสุดท้ายต้องทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์นี่ ถือเป็นความสูญเสียมากค่ะ
บอกข้อดี 3 ข้อของการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามความคิดเห็นของคุณ – บอกข้อเสีย 3 ข้อของ การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตอบ
ข้อดีของการใช้ชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์
1. ได้ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ ทำงานแค่ 40 % มีเวลาทำอย่างอื่นๆ เช่น
– เป็นจิตอาสาในสมาคมหญิงไทยเพื่อหญิงไทย สวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียนรู้กฎหมาย กฎระเบียบของการใช้ชีวิตให้เป็นคนคุณภาพของที่นี่ แล้วนำข้อมูลความรู้ไปบอกกับคนไทย ที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ให้รับรู้ด้วย ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อประโยชน์กับชาวไทยในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศใกล้เคียง
– มีเวลาให้กับชีวิตด้านใน ได้ไปวัดทำบุญ ฝึกสมาธิ ฝึกปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นๆ
2. ได้รู้จักการใช้ชีวิตแบบสมดุล กับครอบครัว เพื่อนกัลยาณมิตร ทำกิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่หันไปทางไหนก็สวยงามสดชื่น ไปไหนก็สะดวกสบาย ปั่นจักรยานกลับบ้านคนเดียวตอนเกือบห้าทุ่มได้ แบบไม่ต้องกลัวอะไร
3. ทำงานเพื่องานด้วย ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน การทำงานตอนนึ้จึงเป็นอีกความสุขที่ได้ทำ ได้ให้ และยังมีเงินส่งกลับไปให้พ่อแม่ใช้ได้ทุกเดือน ได้ช่วยเหลือน้องๆและหลานๆ ในยามที่เขาจำเป็น และเราไม่เดือนร้อน
ส่วนข้อเสีย 3 ข้อ คือ
1. อยู่ไกลกับพ่อแม่ น้องๆ หลานๆ และเพื่อนๆ ถึงสมัยนี้เราสื่อสารกันได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่เหมือนอยู่ด้วยกันแบบตัวเป็นๆ
2. อาหาร อุปกรณ์ที่จะปรุงอาหารไทย แพง แต่ก็เข้าใจได้ว่ากว่าจะเดินทางมาถึง มีค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทาง
3. ได้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ คนไทยน้อยมาก ปีหนึ่ง 1 ครั้ง บางปีไม่ได้เที่ยวด้วยกันเลย ส่วนใหญ่ไปกับสามี และคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ถึงแม้ต่างก็พยายามหาเวลาเที่ยวด้วยกัน แต่เป็นไปได้ยากค่ะ
ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่าเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความโรแมนติก ความรัก ระหว่างคนไทยและคนสวิตเซอร์แลนด์อะไรคือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ตอบ
สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก ความโรแมนติกของคนไทย และคนสวิส สิ่งที่จะเป็นปัญหาได้คือ
1. การคบหาดูใจกัน ควรให้เวลาที่มากพอ ที่จะเรียนรู้กันและกัน และที่สำคัญ แสดงความเป็นตัวตนของตนออกมา อย่าเสแสร้งทำในสิ่งที่ไม่ใช่เรา รวมทั้งเขาด้วย ยกตัวอย่าง สามีเป็นคนอารมย์ร้อน เขาก็ร้อนให้เราเห็น เราเป็นคนไม่ค่อยพูดแสดงความต้องการ คือเราคิดว่าเราเป็นคนง่ายๆ อะไรก็ได้ และความเกรงใจ ที่ไม่อยากแสดงความต้องการออกมาตรงๆ นั้น ในมุมมองของอีกฝ่ายคือ เราเห็นแก่ตัว ไม่อยากคิด เพราะการอะไรก็ได้ แล้วแต่เธอคือ เธอคิด ฉันตาม ง่ายไหม และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ฉันก็ไม่ได้ผิด ไม่ใช่ความผิดของฉัน เพราะฉันไม่ได้คิด เธอคิด และอีกอย่างคือ เขามองว่า เราไม่มีความคิดอะไรเลยหรือ มันจะเป็นไปได้หรือ คนเราต้องรู้จักคิด เรื่องอะไรก็แล้วแต่ คิดว่าดี เพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร มีเหตุผลประกอบ คนเราเมื่อคิดจะอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต ต้องพึ่งพิง ปรีกษากันได้ แล้วก็ร่วมกันรับผิดชอบในสิ่งนั้นๆ
2. ความรักให้นิยามให้ตรงกัน คือ ถามกันสักหน่อยว่า เขาหมายถึงอะไร เราคิดว่าควรเป็นอย่างไร เคยมีคนมาปรึกษา แต่งงานได้ 4 เดือน คิดว่าเขาจะดูแลเราได้ แต่การณ์ไม่เป็นอย่างที่คิด ก็เลยคิดจะหย่า เราต้องถามกลับไปแล้วว่า ในความหมายว่า ดูแลเราได้นั้นคืออะไรกันแน่ และขนาดไหน ถ้าได้คุยกันให้ถึงแก่นจริง จะไม่เกิดความรู้สึกแบบนี้ เช่น ดูแลเราได้นี่คือ ต้องให้เงินเราใช้เดือนละเท่าไหร่ ต้องส่งเงินให้ครอบครัวที่เมืองไทยด้วยไหม และการแต่งงานกันด้วยความรักนั้น เราควรจะต้องรู้ด้วยว่า คนที่เราแต่งงานมาอยู่ด้วยนั้น เขามีเงินเดือนเท่าไหร่ เขาต้องจ่ายค่าอะไรบ้างให้เรา เช่น เรามาอยู่ใหม่ๆ ยังทำงานไม่ได้ เราต้องคุยกันเลยว่า เราต้องเรียนภาษา เพราะภาษาจะทำให้ชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์ ง่ายขึ้น ทั้งสังคม การงาน เขาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องเรียนได้ไหม เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ค่าประกันสุขภาพ ค่าประกันสังคมต่างๆ ที่เขาต้องจ่ายให้เรา ซึ่งบางคนไม่ทราบว่าเขาจ่ายอะไรบ้าง มีเงินเหลือเท่าไหร่ แล้วคิดอยากจะได้โน่นนี่นั่น แล้วเขาให้ไม่ได้ ก็คิดว่าเขาดูแลเราไม่ได้ สิ่งสำคัญสำหรับความรักที่ยั่งยืน คือ การคุยสื่อสารกันให้เข้าใจได้ในเกือบทุกเรื่อง ที่ต่างต้องคุยกันค่ะ
3. เรื่องของความโรแมนติก เป็นเรื่องส่วนบุคคลของคนสองคน ที่ไม่อาจแยกสัญชาติได้ แต่บอกได้ว่า สามีสวิสของดิฉัน ไม่โรแมนติก ตั้งแต่รู้จักกัน แต่งงานกันมา 13 ปีแล้ว ไม่เคยมีดอกไม้ให้ไม่ว่าเทศกาลใดๆ ไม่เคยออกไปกินข้างนอกบ้านใต้แสงเทียนในวันพิเศษ วันครบครอบแต่งงาน ฉันเชิญเขาขึ้นไปกินอาหารเย็นในร้านอาหารบนเขาที่เราจัดงานแต่งงาน เขาก็ปฏิเสธ เพราะไม่ใช่สไตล์ของเขา และเราก็รับรู้มาก่อนตัดสินใจกับเขาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจว่า เราอย่าคิดไปเปลี่ยนไป แล้วก็ไม่ต้องน้อยใจด้วย เพราะตัวเราเองก็เป็นคนเสียดายเงิน กับค่าดอกไม้ ช่อหนึ่งเป็นพันบาท 35 ฟรังค์ขั้นต่ำสำหรับดอกไม้หนึ่งช่อนะคะ เราเห็นชื่นใจเพียง 1 อาทิตย์ ก็ต้องทิ้ง ถ้าคนที่ไม่ได้ชื่นชมกับสิ่งเหล่านี้อย่างดิฉันก็จะเสียดาย เคยได้ดอกกไม้ 1 ช่อจากที่ทำงาน ยังแอบคิดเลยว่า นำเงินใส่ซองให้ฉันจะดีกว่านะ อิอิ ความโรแมนติกของเขา คือ ความจริงใจ มั่นคง เสมอต้นเสมอปลายของเขา ที่มีให้เราเสมอมาไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ
ตั้งแต่ที่คุณย้ายจากประเทศไทยมาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครั้งแรกมีวัฒนธรรมหรือการปฏิบัติอย่างใดของชาวสวิตเซอร์แลนด์บ้างครับที่คุณรู้สึกประหลาดใจ ( cultural shock ) ช่วยบอกผมมาอย่างน้อยสัก3 ข้อ
ตอบ
วัฒนธรรม ที่รู้สึกไม่ถึงกับแปลก แต่เพิ่งเคยเห็น คิดได้แค่ 2 ข้อค่ะ คือ
1. เรื่องการทักทายกัน หรือตอนลากัน ของคนที่รู้จักสนิทสนมกันพอควรแล้ว ที่จุ๊บกันแบบแก้มแตะแก้ม 3 ครั้ง ซึ่งแตกต่างกับบ้านเราที่เราไหว้ทักทายกัน
2. คนที่นี่เขาไม่ถือเรื่องการใช้เท้า ชี้สิ่งของ สามีทำให้เราเห็นเวลาไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาเก็ต แล้วเราตกใจว่าทำไมใช้เท้าชี้แบบนี้ คนไทยไม่ทำกัน ถือว่าไม่สุภาพมาก แต่สามีบอกที่นี่เขาไม่คิดอะไร
ผู้หญิงไทยบางคนคิดว่าการย้ายมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น คุณมีคำแนะนำที่จะบอกผู้หญิงไทยที่คิดแบบนี้อย่างไร และคุณมีคำแนะนำอะไรที่จะแนะนำให้พวกเขาต้องระมัดระวังบ้างไหม
ตอบ
สำหรับสาวไทยที่คิดว่าการย้ายมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ด้วยกันแต่งงานมา จะทำให้ชีวิตสบายขึ้นนั้น คนเราทุกคนสามารถที่ฝัน ทะเยอทะยาน เพื่ออนาคตได้ แต่เราต้องมองให้ดี ดูให้นานว่าคนที่เราคิดว่าเขาจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนั้นเป็นคนอย่างไร และในความหมายของมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้นดีแบบไหน ก็อยากจะบอกว่า ชีวิตเรา ถ้ามีคนนำทางให้มาอยู่ ให้โอกาส สิ่งหนึ่งคือการรู้จักบุญคุณเขา ถ้าเรารู้สึกว่าเขามีบุญคุณเราจะอ่อนน้อม เราจะดูแลเขา โดยเริ่มจากตัวเรา ทำดีกับเขา สิ่งที่ได้รับ เขาจะดีกับเราเช่นกัน จากประสบการณ์ส่วนตัว มาอยู่ในช่วง 2 ปีแรก เราพึ่งเขาด้านการเงิน การกินอยู่ทั้งหมด เราก็ตอบแทนเขาด้วยการทำหน้าที่แม่บ้านที่สุดยอดมาก และเราต้องไม่ลืมการพัฒนาตัวเองด้วย เพราะนั่นจะทำให้นอกจากตัวเราจะภูมิใจ และอยู่ที่นี่ได้อย่างดี และมีคุณภาพแล้ว เขาก็จะภูมิใจในตัวเราด้วยเช่น ที่เลือกคนมาอยู่ด้วยไม่ผิด เพราะถ้าเราพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าจะเรื่องภาษา เรียนเพื่อประกอบอาชีพได้ อยู่ในสังคมได้ ปรับตัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเขาตลอดเวลา เรื่องง่ายๆ เรื่องการเดินทางไปไหนมาไหนเอง ทำอะไรเองให้ได้มากที่สุด เราจะรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ต่อมาเมื่อเราได้งานทำ เราควรแสดงความมีน้ำใจ การเป็นสามีภรรยากัน มีหน้าที่ต่อกัน คือ ช่วยเหลือดูแลกัน ในตอนแรกที่เรามาอยู่เขาช่วยเหลือเรา ตอนที่เรามีรายได้ เราก็ควรแสดงน้ำใจให้เขาบ้าง อาจไม่ต้องช่วยเยอะแยะ เพราะแต่ละครอบครัวมีความแตกต่าง ซึ่งเราต้องคุยกัน ว่าฝ่ายชายเขารับผิดชอบอะไรบ้าง ส่วนไหนเราพอจะช่วยเขาได้บ้าง อย่างตัวดิฉันเอง พอทำงานได้ ก็ขอจ่ายค่าประกันสุขภาพเอง ซึ่งตอนแรกไม่รู้หรอกว่า มันแพงขนาดไหนที่เขาจ่ายให้เรา พอมาจ่ายเอง ถึงรู้ว่า โอ้โหแพงจัง เงินเดือนสองเดือนของเราจ่ายประกันสุขภาพไปเลย เพราะทำงานแค่ 40 เปอร์เซ็นต์จึงไม่ได้มีรายได้มาก แต่เราก็แสดงให้เขาเห็นว่า เราพร้อมจะช่วยเหลือแบ่งเบาเขาบ้าง เมื่อเราทำได้ เป็นการใจซื้อใจกัน อยากให้พวกเราสาวไทย พยายามคิดถึงใจเขาใจเราให้เยอะ อย่าคิดแต่ได้ ของๆ เธอ คือของเรา แต่ของๆ ฉัน เป็นของฉันคนเดียว ลองคิดดู ถ้าเราเป็นเขา เราคิดอย่างไร ถ้าเจอคนประเภทนี้ สิ่งใดที่เราไม่ชอบให้ใครทำกับเราแบบนี้ เราก็อย่าทำกับคนอื่นๆ และต้องรักตัวเองอย่างถูกวิธีให้มากๆๆ ค่ะ นั่นคือการพัฒนาตัวเอง เป็นการรักตัวเองแบบหนึ่งที่สำคัญ และถ้าเราอยู่ได้สบายแล้ว ก็อยากจะฝากให้แบ่งปันคนอื่นๆ ต่อไป เช่น งานจิตอาสาต่าง ๆ ก็อยากจะฝากไว้เพียงเท่านี้ค่ะ เพราะ “อยู่เพื่อตัวเอง อยู่แค่สิ้นใจ แต่อยู่เพื่อคนทั่วไป จะอยู่ชั่วฟ้าดินนะคะ” ดังที่พระเมธีวชิโรดม – ว.วชิรเมธี กล่าวไว้

สำหรับชาวไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ก็อยากให้ทำความรู้จักและสมัครเป็นสมาชิกกับสมาคมหญิงไทยเพื่อหญิงไทย สวิตเซอร์แลนด์ เพราะสมาคมนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายควรรู้เมื่อเราอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งกฎหมายครอบครัว กฎหมายประกันสังคม และอื่นๆ สมาคมออกวารสารภาษาไทยให้สมาชิก ให้รู้ข้อมูลสำคัญๆ มีจัดสัมมนาให้ข้อมูลความรู้หลากหลาย มีโทรศัพท์สายตรงให้โทรสอบถามปัญหา ซึ่งบางคนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะตอนที่ชีวิตดีๆ ไม่เคยคิดจะทำความรู้จัก แต่พอมีปัญหาขึ้นมา ถึงได้เห็นความสำคัญ และโทรมาปรึกษาจากคำแนะนำของเพื่อนๆ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ เราจะไม่เรียนรู้ที่จะป้องกัน คิดว่าตัวเองจะไม่มีปัญหา แต่ชีวิตคนเราไม่แน่นอน อาจเกิดอะไรขึ้นมาก็ได้ การที่รู้จัก คนไทย สมาคม ชมรมคนไทย บางครั้งเราก็ได้รับความช่วยเหลือเวลาเราลำบากนะคะ สมัครเป็นสมาชิกเพียงปีละ 50 ฟรังค์ ได้วารสารรวงข้าว 3 ฉบับ เรามีหนังสือคู่มือการใช้ชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์ให้ด้วย ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่คนไทยทุกคนควรมีเก็บไว้ และแนะนำให้รู้จักสมาคมซึ่งเก่าแก่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ก่อตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายสวิสนะคะ ปีนี้ก็เข้าปีที่ 24 แล้วค่ะ สามารถเข้าไปดูข้อมูลในเวปไซด์ได้ ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิก
และในเวปก็มีข้อมูลกฎหมายมากมายให้เราได้เรียนรู้ ถึงแม้จะไม่สมัครสมาชิกก็ตาม แต่การสมัครสมาชิก เป็นการช่วยเหลือกันและกัน เงินเพียง 50 ฟรังค์ คุณช่วยคนได้เยอะ ถือเป็นการทำบุญวิธีหนึ่งค่ะ
ขอปิดท้ายฝากช่องยูทูป เรื่องเล่าจากสวิส Swiss stories โดยป้าแม้วด้วยค่ะ เป็นช่องที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่ควรรู้เมื่อมาอยู่สวิส และเรื่องอื่นๆ ทั่วๆ ไป ท่องเที่ยว อาหาร ชีวิตด้านต่างๆ ค่ะ






สิ่งเหล่านี้คือการปรับตัวที่จะอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ การเข้าไปทำกิจกรรมมีส่วนร่วมกับคนที่นี่ค่ะ และไม่ลืมความเป็นพุทธ ที่พัฒนาด้านจิตใจของเรา
YouTube: Swiss Stories เรื่องเล่าจากสวิส
เพิ่มเติม
ชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บทสัมภาษณ์น่าอ่านจากคนไทย
ชีวิตหญิงไทยในต่างแดน เฟสบุ๊คเพจ
โปรดลงทะเบียนเพื่อรับThai Women Living Abroad ข่าวสารใหม่อย่างต่อเนื่อง
One thought on “ย้ายมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ชีวิตจะดีขึ้นจริง หากรู้จักปรับ และพัฒนาตัวเอง”