ตั้งแต่ที่คุณย้ายจากประเทศไทยมาอยู่ที่ประเทศเนเธอแลนด์ครั้งแรกมีวัฒนธรรมหรือการปฏิบัติอย่างใดของชาวเนเธอแลนด์บ้างครับที่คุณรู้สึกประหลาดใจ ( cultural shock ) ช่วยบอกผมมาอย่างน้อยสัก3 ข้อ
ข้อที่จะตอบต่อไปนี้ตอบตามประสบการณ์และความคิดเห็นของแขกรับเชิญของเรา
คุณ Naan Madamthai – เมือง: อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอแลนด์ (Netherlands)
ดิฉันรู้ว่าการไปอยู่ต่างแดนวัฒนธรรมต้องแตกต่างและได้เรียนรู้จากหนังสือ ก็เตรียมตัวเตรียมใจพอสมควรค่ะ แต่ดิฉันก็รู้สึกได้ว่ามันสุดโต่งถึงความแตกต่างจริงๆ เช่นการเรียกคนที่สูงวัยกว่าที่ไทยเราจะเรียกพี่ ป้า น้า อา ลุง ยายและตามด้วยชื่อคนนั้น ถือว่าเป็นการนอบน้อมคนนั้นเป็นผู้สูงวัยกว่า หากไม่เรียกลำดับญาติก็เรียกคุณและตามด้วยชื่อ แต่ที่นี่เขาจะเรียกชื่อเลยเช่นหลานลูกน้องชายเรียกคุณหมอตะวันว่า ตะวัน ตะวันเรียกน้องพ่อว่าแซฟ
อีกเช่นกัน การเรียกชื่อลูกของตะวันเองเรียกพ่อแค่ชื่อ เมื่อฉันพูดคุยกับลูกสาวและกล่าวถึงพ่อของเธอ เธอใช้เวลานานจึงรับรู้ว่า your father หรือพ่อของคุณที่ฉันกล่าวถึงนั้นเป็นคุณตะวัน
การพบกันกับคนรู้จักค่ะ เขาจะเอาแก้มแตะกันซ้ายขวาซ้าย ซึ่งบ้านเราจะเพียงสวัสดีและไม่แตะต้องกันหากไม่สนิทสนมกัน
รวมถึงเวลานั่งรับแขกไทยเรานั่งตัวตรงเท้าเก็บมิดชิดไม่ชี้ใส่แขกให้เสียมารยาท แต่ที่บ้านเขาเก้าอี้โซฟารับแขกต่ำแขกอายุเล็กหรือน้อยมาก็ช่างเขานั่งเอกเขนกเท้าจะชี้ใส่หน้าใครก็ได้ ไม่สน รวมถึงเด็กบ้านเราเวลาไปนั่นมานี่ต้องบริการผู้สูงวัยในตระกูลให้มีที่นั่งที่พักก่อน ส่วนคนกลุ่มนี้ ไม่เขานั่งเฉยเอกเขนกและพูดนินทาต่อหน้าเลย โอ้ยตาหน่ายจริงๆช็อกค่ะ นี่แค่เรื่องในตระกูลนะคะ ทุกคนมีการศึกษากริยามารยาทดี แต่ไม่เหมือนที่เมืองไทยค่ะ เราต้องปรับตัวให้ยอมรับ หากปรับตัวไม่ได้ก็ปวดหัวอยากกลับบ้านเท่านั้นเองค่ะ
การมีตารางเวลาลงไว้ ทำอะไรก็ต้องนัดหมายต้องมาตรวจสอบเวลาที่ลงไว้ว่าว่างไหม ฉันอยู่ที่เมืองไทยนัดหมายไว้ไม่มาก การทำงานเป็นเวลา ฉันใช้สมองจำ แต่ที่บ้านเขาเขาทำงานหรือนัดหมายกันต้องลงในตารางการนัดหมาย นี่แหละคำว่าแตกต่างที่ชัดเจนมากในชีวิตฉัน
จูบกันนัวเนียตามถนนหนทาง แบบไม่อายฟ้า ณ ตอนแรกที่ฉันเห็นที่อัมสเตอร์ดัม แต่ในไทยทำไม่ได้ไม่ทำอาย มาตอนหลังฉันไม่สนใครแหละสามีฉันอยากหอมฉันก็หอม แต่ไม่จูบกันนัวเนียเพราะเรารู้กาลเทศะ การหอมกันเล็กๆน้อยๆในไทยในที่สาธารณะที่เหมาะสมก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ดูคนจะอิจฉาอยากได้แต่ไม่ฝึกทำค่ะ
คุณ Kotchakorn Chorptham / คุณกชกร ชอบธรรม – ชื่อเล่น: Smiley – เมือง: Hoek van Holland ประเทศเนเธอแลนด์ (Netherlands)
สิ่งที่ช็อคมากๆ น่าจะเป็นเพราะว่า เราได้เรียนรู้มาก่อน ว่าวัฒนธรรมตะวันตกจะเป็นอย่างไร แต่พอมาถึง มันก็เหมือนวัฒนธรรมไทยในหลายๆอย่างนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ข้อแรก ที่ว่าครอบครัวไทยจะใกล้ชิดสนิทกัน แต่ฝรั่งไม่ พอมาเจอดิฉันงง กลับกลายเป็นว่าครอบครัวไทยของดิฉันกลับไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันเท่าครอบครัวฝรั่งของสามี เพราะเขาจะมีวันนัดพบครอบครัวประจำปี นอกเหนือจากวันเทศกาลปกติแล้ว แถมมีหนังสือพิมพ์ครอบครัว ในทุกวันตอนเย็น ก็จะโทรศัพท์หาพ่อแม่ คืองงค่ะ ครอบครัวอื่นอาจจะไม่มีนะคะ ครอบครัวไทยดิฉันเองก็ไม่เป็นแบบนี้ค่ะ สำหรับเพื่อนบ้านเอง หลายๆคนในต่างประเทศบอกว่า ฝรั่งเนี่ยเขาจะไม่ยุ่งกับเพื่อนบ้าน แต่ดิฉันอยู่ในอพาร์ทเมนต์ซึ่งแน่นอนเราก็จะมีเพื่อนบ้านชั้นบน ชั้นล่าง ห้องซ้ายและขวา ซึ่งเราสนิทกันค่ะ มีเบอร์โทรส่วนตัวของกันและกัน มีโอกาสเจอกันหน้าบ้านก็จะยืนคุยกันยาวเลย บางครั้งก็เข้าไปนั่งเล่นในบ้านเพื่อนบ้าน ช่วยรับของจากไปรษณีย์แทนให้กันและกัน มี whatsapp และ facebook เพื่อนบ้านและแม้ว่าจะย้ายกันไปอยู่ที่อื่นก็ยังเป็นเพื่อนกัน พอมีคนใหม่มา เราก็ทำเช่นนี้กันอีกค่ะ ตอนนี้ไม่ค่อยแน่ใจว่านี่เป็นเพราะเขามีเพื่อนบ้านเป็นคนอย่างเราหรือว่าเพื่อนบ้านที่อาศัยอยุ่ในอพาร์ทเมนต์กับเรา เขาเป็นแบบนี้ของเขาเองค่ะ เพื่อนบ้านที่ไทยเสียอีก ที่เราไม่เคยได้ทำวามรู้จักเลยค่ะ ยิ้มให้ เขาก็เฉยๆ ไป เรื่องจะฝากบ้านหรืออะไรนี่เลิกคิดไปเลยค่ะ บางทีเปิดเพลงไม่ได้ดังมาก ก็ไม่พอใจพูดจาต่อว่าหยาบคาย แต่ตอนที่เราเปิดไม่พูดอะไรค่ะ ถ้าพูดตอนนั้น เราอาจจะรู้ตัวและแก้ไขทันที คัลเชอร์ช็อคอีกอันเป็นเรื่องอาหารค่ะ คือเราเรียนและทำงานเชฟ ก่อนจะเตรียมใจย้ายมาอยู่ต่างประเทศ เป็นห่วงมาก กลัวว่าจะหาอาหารไทยทานได้ลำบาก ไปๆ มาๆ อื้ออออ มีร้านอาหารไทยเยอะกว่าร้านอาหารดัตช์อีกค่ะ กลับกลายเป็นว่าประเทศนี้ไม่มีร้านอาหารประจำชาติตัวเองเสียงั้น ร้านอาหารเวลาออกไปทานนอกบ้านจะเจอร้านอิตาเลี่ยน ฝรั่งเศส ตุรกี จีน เกาหลี ญี่ปุ่นไทย แต่ไม่ค่อยมีร้านอาหารดัตช์ค่ะ ผิดคาด แทบหงายหลังค่ะแต่ละเรื่อง
คุณ พณิดา ย่อมมี / Phanida Yommee – ชื่อเล่น:ไก่ – เมือง: ร็อตเตอร์ดัม (Rotterdam) ประเทศเนเธอแลนด์ (Netherlands)
ดิฉันได้ศึกษาหาอ่านข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับฮอนแลนด์ก่อนย้ายมาอยู่ เลยไม่ค่อยช็อคเท่าไหร่ค่ะ แต่ในช่วงแรกก็รู้สึกไม่คุ้นเคยอยู่หลายอย่าง เช่น
-การที่ได้ยินเด็กๆในบางครอบครัวเรืยกพ่อและแม่ด้วยชื่อ และโดยไม่มีคำนำหน้าใดๆทั้งสิ้น…คนไทยส่วนมากค่อนข้างจะถือและให้ความสำคัญกับคำนำหน้าที่ใช้เรียกผู้ที่มีอายุสูงกว่า และเราจะไม่เรียกพ่อและแม่ด้วยชื่อเฉยๆเพราะถือว่าเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพบิดามารดา(ไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่ที่ไทยในปัจจุบันมีการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้เรียกพ่อแม่ด้วยชื่อหรือเปล่านะคะ…แต่ในยุคในรุ่นของดิฉัน ไม่เคยได้ยินค่ะ) …อีกอย่างคือเคยเห็นคนดัตช์บางคน(ที่มีหน้าที่การงานดีมาก)ใช้เท้าชี้สิ่งของต่างๆ และเดินมาเฉียดแบบชนิดที่แทบจะก้าวข้ามหัวเรา อันนี้มีเอ๋อไปนิดหน่อยตอนเห็นครั้งแรก
-เรื่องที่คนดัตช์พูด..ทักท้วง หรือพูดแสดงความเห็นแบบชัดและตรงมากๆ.. ถึงแม้จะรู้มาก่อนว่าคนดัตช์ส่วนมากจะพูดตรงมากแต่บางครั้งก็ไม่ค่อยจะชิน(แต่ไม่ถึงขนาดช็อคนะคะ) ด้วยที่นิสัยส่วนตัวก็จะเป็นคนพูดค่อนข้างตรงๆเหมือนกันแต่ก็ไม่ใช่พูดแบบขวานผ่าซากไปทุกเรื่องกับทุกๆคน… และอาจจะเป็นเพราะโตมากับวัฒนธรรมการพูดแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น(คนไทยหลายๆคนใช้วีการพูดแบบอ้อมภูเขาแทนการเดินผ่ากลางเขาก่อนที่จะถึงปลายทางหรือที่คนตะวันตกเรียกว่า beat around the bush(?))เลยรู้สึกแปลกๆบ้างในบางครั้งเมื่อเจอคนดัตช์ที่พูดแบบไม่ไว้หน้าพระอินทร์พระพรหมเลย
-สิ่งที่ทำใจให้คุ้นเคยไม่ได้อีกอย่างคือ การเห็นผู้สูงอายุเลือกที่จะอยู่คนเดียว และต้องดูแลช่วยเหลือตัวเองโดยไม่เรียกร้องให้ลูกหลานมาดูแล: ตัวอย่างที่เจอคือคุณย่าอายุ91 ปี ที่เดินไม่ค่อยสะดวก ต้องใช้รถช่วยพยุงเดิน แถมมีโรคประจำตัวหลายอย่าง เวลาไปเยี่ยมเยือนท่าน ท่านจะไม่ชอบให้พยุงเดินหรือไปให้ความช่วยเหลือโดยที่ท่านไม่ได้ร้องขอ …และตามซุปเปอร์ร้านขายของต่างๆ จะเห็นผู้สูงวัยเหล่านี้ออกไปจับจ่ายซื้ออาหาร ซื้อข้าวของเอง(ทั้งๆที่บางท่านก็เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นก็มี)เห็นบ่อยๆและทุกครั้งจะรู้สึกไม่ชินและอดรู้สึกหดหู่ไม่ได้
คุณ ปูชิตา ไคซึ้น Phuchita Ghijsen – เมือง: อูแทร็คต์ Utrecht ประเทศเนเธอแลนด์ (Netherlands)
ไม่ถึงขั้นCultural shock แต่ก็รู้สึกประหลาดใจมากกว่า คือคนดัตช์มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ยกตัวอย่าง ตอนมาอยู่ช่วงแรกมีลูกติดมาสองคน เวลาไปไหนก็ปั่นจักรยานกันไป ลูกชาย 5 และ 7 ขวบ สามีก็ไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน อาจจะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็ก ปล่อยให้ลูกชายปั่นจักรยานนำหน้าไป ดิฉันและสามีปั่นตามหลังลูกๆ มีคุณป้าชาวดัตช์จอดจักรยาน และเเนะนำเราสองคนสามีภรรยาว่า ถ้าฉันเป็นคุณ ฉันจะปั่นนำเด็กๆ เพื่อความปลอดภัย อีกเรื่องรู้สึก อัลกอฮอล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดัตซ์ส การดื่ม เครื่องดื่มต่างๆ เป็นเรื่องใหญ่ alcohol is a part of the Dutch culture และคนดัตช์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งกายเสื้อผ้าหน้าผมเท่าไหร่ อาจจะขึ้นชื่อว่าการแต่งกายค่อนข้างเชย ยอดเเย่ที่สุดในยุโรป
เพิ่มเติม
ชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ บทสัมภาษณ์น่าอ่านจากคนไทย
ชีวิตหญิงไทยในต่างแดน เฟสบุ๊คเพจ
โปรดลงทะเบียนเพื่อรับThai Women Living Abroad ข่าวสารใหม่อย่างต่อเนื่อง