บทสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ยังต่างประเทศ ครั้งนี้ผมอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกับผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังประเทศนอร์เวย์ เธอคือครูต้อย และนี่คือ มุมมอง ประสบการณ์ และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศนอร์เวย์
ผมอยากจะแนะนำคุณกับ ครูต้อย
ทุกภาพเครดิต ครูต้อย
การใช้ชีวิตและการทำงานในประเทศนอร์เวย์
เริ่มตั้งแต่แรกเลยคุณมาอยู่ประเทศนอร์เวย์ เพราะอะไร และคุณอาศัยอยู่ที่เมืองอะไรในประเทศนอร์เวย์ครับ
ดิฉันมาจากครอบครัวที่เป็นตระกูลเก่าแก่ที่พิษณุโลก นามสกุล”ศรีภิรมย์” มีชื่อเป็นทั้งตำบลและชื่อโรงเรียนที่จังหวัดพิษณุโลกด้วยสาเหตุที่สามีไม่รักและครอบครัวต้องแตกแยก ดิฉันรู้สึกอับอายและเศร้ามากที่ลูกสาว 2 คนจะโตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ เลยอยากหนีไปให้ไกลแสนไกล ยอมทิ้งทั้งตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ เกือบ 9 ปีที่ ร.ร. พิษณุโลกศึกษา ปัจจุบันเป็น ร.ร. เตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ ดิฉันเป็นอาจารย์สอนตั้งแต่ 1977 จนย้ายมาอยู่นอร์เวย์ ในปี 1986 โดยขอตามพี่นุชซึ่งเป็นคนพิษณุโลกที่แต่งงานกับชาวนอร์เวย์ พี่นุชก็ใจดีมากและสงสารดิฉัน เลยให้ตามมานอร์เวย์ด้วย ซึ่งในสมัยนั้นสามารถมานอร์เวย์ได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนด้วยความตั้งมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะต้องพาลูกที่พ่อขาด ไปให้ไกลแสนไกล ดิฉันจึงได้มาตั้งหลักฐานอยู่ที่ นอร์เวย์ และหลังจากดิฉันมาได้ 9 เดือน ลูกสาวทั้งสองคน ตอนนั้นอายุ 7 ปี และ4 ปี ก็ได้มาเริ่มชีวิตใหม่อยู่ด้วยกันที่นอร์เวย์
ปัจจุบัน ดิฉันอยู่ที่ เมือง Sørumsand ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินOslo AirPort Gardermoen ประมาณ 35 ก.ม. และ อยู่ห่างจากOslo 40 ก.ม. บ้านดิฉันอยู่ไม่ไกลจากวัดไทยนอร์เวย์ Wat Thai Norway

คุณเกิดและเติบโตที่ไหนที่ประเทศไทยครับ ช่วยบอกเราได้ไหมครับว่าชีวิตวัยเด็กนั้นเป็นอย่างไรครับ
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของดิฉัน ในนอร์เวย์ในตอนนั้นมีความรู้สึกก็ไม่ต่างจากกลุ่มพวกลี้ภัยที่ต้องย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนด้วยความจำเป็น ด้วยหน้าที่ของความเป็นแม่ที่ต้องการปกป้องลูก อยากให้ลูกเติบโตโดยไม่ต้องมากระทบกระเทือนจิตใจที่พ่อแม่ต้องเลิกกัน ซึ่งในสมัยนั้นก็มีไม่มากนักที่ครอบครัวแตกแยกดิฉันเติบโตมาจากครอบครัวและตระกูลที่อบอุ่น มีคุณพ่อเป็นตำรวจและรักศักดิ์ศรีของตระกูล “ศรีภิรมย์”
เมื่อดิฉันถูกสามีทิ้งและนอกใจ ถึงแม้ดิฉันจะมีหน้าที่การงานที่ดีมีหน้ามีตาในสังคม แต่ก็ช่วยดิฉันในตอนนั้นไม่ได้ ดิฉันเหมือนผู้ลี้ภัยความรัก ครอบครัวแตกแยก เกิดความสับสนและต้องการหนีความจริงไปให้ไกลแสนไกล ไกลจนมาอยู่ขั้วโลกเหนือNorway ซึ่งต้องไปจากเมืองพิษณุโลกบ้านเกิดเมืองนอน ไปจากตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยขาดงานไปเฉยๆ

ไม่ได้บอกกล่าวใครทั้งสิ้น เพราะไม่ทราบว่า จะไปได้จริงหรือเปล่า มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเมื่อดิฉันมาถึงนอร์เวย์แล้ว อ้าว. !! เราอยู่ที่ไหนนี่ เหมือนคนข้ามสะพานแล้วเผาสะพานทิ้งหรือ ตำราคนจีนเขาว่าทุบหม้อข้าวทิ้ง ต้องไปตายเอาดาบหน้า ชีวิตต้องสู้ข้างหน้า ย้อนกลับไม่ได้แล้ว ชีวิตต้องมีเป้าหมาย … เพื่อ ลูกสาวทั้งสองคนจะได้เติบโตโดยไม่ต้องรับรู้ว่าพ่อเขาทิ้งแม่ ดิฉันบอกลูกๆตอนเล็กๆว่าแม่อยากมาอยู่ยุโรปอยากให้ลูกๆมาเรียนที่ยุโรป ตอบแบบง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายมากมาย ซึ่งเขาก็ยังเล็กๆอยู่
ดิฉันเติบโตมาจากครอบครัว มีฐานะแต่ไม่ได้ร่ำรวย คุณพ่อเป็นตำรวจ และคุณแม่เป็นคนดูแลบ้านเช่าประมาณ 20 หลัง ซึ่งในละแวกนั้นก็ถึงว่า มีฐานะพอที่จะส่งลูกๆทุกคนได้รับการศึกษาชั้นสูงทุกคน ดิฉันเรียนจบเอกดนตรี รุ่น 6 วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ พิษณุโลก และรับราชการครู ในปี 1977 – 1986.

ตอนนี้คุณทำอาชีพอะไรที่ประเทศนอร์เวย์ ช่วยบอกเรางานของคุณเป็นอย่างไรครับ
หลังจากดิฉันย้ายมาอยู่นอร์เวย์ในปี 1986 ดิฉันก็ ประกอบอาชีพหลายอย่าง เช่น ทำความสะอาด งานหลายหน้าที่ในสถานบ้านพักคนชรา นอกจากนี้ก็ทำงานล่าม ,โรงเรียนอนุบาล และเป็นครูสองภาษา (ภาษาแม่ และ ภาษานอรเวเจียน) ช่วยเด็กนักเรียนที่ตามผู้ปกครองมาอยู่นอร์เวย์ เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้วหางานทำยากในนอร์เวย์ เลยต้องทำงานหลายอย่าง ยังไม่ได้งานบรรจุประจำ ได้งานชั่วคราว

และด้วยความที่ใจรักในอาชีพครูเพราะจบปริญญาตรี ทำงานด้านศึกษาและใฝ่ฝันจะต้องเป็นครูอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ดิฉันขวนขวายศึกษาต่อ ที่วิทยาลัยชั้นสูง Hogskole I Oslo ในช่วงปี2000-2002 ในสาขาการศึกษาพิเศษต่อจากวุฒิปริญญาตรีทางด้านการศึกษา และได้ปรับวุฒิ เพิ่มขึ้นและได้บรรจุเป็นข้าราชการครูอย่างเต็มตัว อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากวุฒิปริญญาที่จบมาจากไทย ดิฉันเคยรับราชการมาจากประเทศไทย 9 ปีหลังจากมาที่นอร์เวย์ทางราชการก็นับอายุราชการต่อเนื่องให้ด้วย แต่ต้องเป็นในสายการศึกษาอันเดียวกันและใบรับรองงานที่บรรจุที่ไทย รวมอาชีพรับราชการต่อเนื่องจากปี 1977 – 2012รวมอายุราชการ 35 ปี หลังจากปี 2012 ดิฉันสุขภาพ ไม่ดี ทรุดโทรมลง ก็เลยต้องรีไทร์เกษียณออกจากราชการก่อนวัย
แต่ดิฉันเสียดายความรู้ ดิฉันจึงรับสอนวิชาสังคมนอร์เวย์ 50ชั่วโมงให้คนไทย โดยกระทรวงการสนับสนุนและการปรับตัวของคนอพยพ ได้เรียนวิชาสังคมของนอร์เวย์ภายในเวลา 50ชั่วโมง คือให้ครูไทยสอนเป็นภาษาแม่ของแต่ละประเทศ ปรับเพื่อต้องสอบเพราะเป็นกฎระเบียบใหม่ที่คนต่างชาติต้องเรียนวิชาสังคม 50 ชั่วโมงโดยใช้ครูภาษาแม่ คือสอนเป็นถาษาไทย

ปัจจุบันดิฉันเป็นครูเกษียณ เพียงแค่รับสอนคอร์สวิชาสังคมนอร์เวย์ 50 ชม ให้คนไทยในเขต Akerhus และ Oslo โดยรัฐบาลเป็นผู้จ้างครู
นอกจากนี้ดิฉันได้รับเกียรติ จากสำนักพิมพ์แต่งตำรา เรียนฉบับกะทัดรัดสำหรับให้ เด็กนักเรียนที่ตามผู้ปกครองมาอยู่ที่นอร์เวย์แบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งเป็นผลงานที่ดิฉันภูมิใจมาก ดิฉันและครูชนกมล โพธิศรียุช เป็นผู้เขียนตำราชุดขึ้นมามี 3 ระดับ ซึ่งเป็นผลในชีวิตของดิฉันมากจ้ะ
นอกจากนี้ดิฉันก็ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้สมาคสตรีไทยในนอร์เวย์ Thaikvinne ทั้งในด้านการศึกษาและด้านกฎหมายให้คนไทยที่อยู่ที่นี่ด้วยค่ะ

คุณพูดภาษานอร์เวย์ ได้ไหม คุณคิดว่าภาษานอร์เวย์ยากสำหรับคุณไหมและคุณใช้เวลาเรียนรู้ฝึกฝนนานแค่ไหนกว่าคุณจะพูดภาษาแล้ว เสร็จได้ พูดภาษาอื่น ไหม
สำหรับเรื่องเรียนภาษานอร์เวย์ เรียกสั้นๆภาษา นอร์ส ขอย้อนไปเมื่อปี 1986 ตอนนั้นทางการนอร์เวย์ยังไม่ได้สนับสนุนคนต่างชาติโดยทั่วไปมากนัก จะสนับสนุนดูแลเฉพาะกลุ่มลี้ภัยหรือเมืองใหญ่ๆที่มีงบประมาณดูแล ชาวต่างชาติ ดิฉันอยู่ในกลุ่มของการรวมญาติ คือ แต่งงานกับชาวนอร์เวย์และอยู่เมืองเล็กเลยไม่มีงบประมาณที่จะให้เรียนภาษานอร์ส
ส่วนภาษาอังกฤษดิฉันเองก็ไม่เก่ง เพราะก่อนมาเป็นอาจารย์สอนดนตรีและเป็น หัวหน้าหมวดดนตรีของ ร.ร มัธยมมาค่ะ ดิฉันจำได้ว่าตื่นเช้ามาก็คว้าดิกชั่นนารีไทย-อังกฤษแล้วแปลจากอังกฤษเป็นภาษานอร์เวย์ จดเป็นเล่มๆเลย แต่ในปัจจุบันมีดิกชั่นนารี ไทย-นอร์เวย์ และนอร์เวย์-ไทย สะดวกเลยค่ะ

ดิฉันไม่เก่งภาษาอังกฤษมา ก็เลยใช่ภาษาอังกฤษเป็นแค่สะพานไปหาภาษานอร์เวย์ ดิฉันอยู่เมืองเล็ก ที่นั่นมีแต่คนพูดภาษาท้องถิ่น ถ้าดิฉันไม่ได้ภาษาเค้า ดิฉันก็จะหางานทำไม่ได้สื่อสารกับใครไม่ได้ ในช่วงนั้นดิฉันไม่ได้ชั่วโมงเรียนภาษา ต้องเรียนด้วยตนเอง ต้องถามสามี อันนี้ เรียกว่าอะไร เขียนอย่างไรต้องขวนขวายเอง เพราะเป้าหมายในตอนนั้นอยากมีงานทำ มีรายได้เพราะเอาลูกสาว 2 คนจากไทยมาอยู่ด้วยกันที่นอร์เวย์ซึ่งลูกคือเป้าหมายในชีวิตของดิฉัน พอมาอยู่ นอร์เวย์ได้ประมาณ 5 เดือน ดิฉันก็เริ่มออกทำงาน โดยงานครั้งแรกๆ คืองานทำความสะอาด
ในตอนนั้นดิฉันทำงานไป น้ำตาร่วงไป สงสารชีวิตตนเองที่ต้องมาลำบาก อดคิดไม่ได้ว่าจริงๆแล้วจะต้องยืนหน้าห้อง สอนเด็กเล่นดนตรี ซ้อมดนตรี มีเพื่อนร่วมงาน มีญาติพี่น้องที่อบอุ่น กินอย่างไทย อยู่อย่างไทย พูดภาษาไทย ประกอบกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมไทย แต่นี่เราต้องมาทำงานทำความสะอาดไม่ได้ใช้ความรู้ปริญญาตรีที่เรียนมาเลย และ ในเวลาเดียวก็ดีใจมากๆ เมื่อได้เขียนชั่วโมงทำงานทำความสะอาด สับสนค่ะเหนื่อยก็เหนื่อย เพราะไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน แต่เงินเดือนก็อยากได้เยอะๆ เพราะจะได้พาลูกๆไปเมืองไทย ไปหาคุณยายและญาติๆ ที่ไทย ดิฉันรักและภูมิใจในรากฐานวงศ์ตระกูลของดิฉันมากๆค่ะ ดิฉันพาลูกๆ ไปเมืองไทยทุกๆปี ที่โรงเรียนปิดภาคเรียน ซึ่งก็หมายถึงค่าใช้จ่าย ค่าตั๋วเครื่องบินให้ลูกไปไทย ในสมัยนั้นค่าเดินทางแพงมากค่ะ ดิฉันจึงทำงานอย่างไม่ย่อท้อด้วยความตั้งใจอันนี้ทำให้ลูกสาวทั้งสองผูกพัน กับครอบครัวที่เมืองไทย และพวกเขาก็ได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของไทยตั้งแต่เด็กๆเป็นต้นมา ลูกๆเมื่อมีครอบครัว พวกเค้าก็พาครอบครัวของเขาไป Thailand ทุกปี และเมื่อพวกเขามีเวลาพักร้อน ด้วยความเผอิญและโชคดีของพวกเขาและดิฉัน ลูกสาวทั้งสองคนเป็นแอร์โฮสเตสของ SAS ทั้งสองคน อาจเป็นเพราะลูกๆผูกพันกับประเทศไทย รักและภูมิใจในความเป็นคนไทยของเขาก็อาจจะเป็นได้

ดิฉันได้เรียนภาษาด้วยตนเอง และได้เรียนรู้จากเพื่อนที่ทำงานครอบครัว และชีวิตประจำวันมาตลอด แต่ในใจของดิฉัน การเรียนโดยไม่มีวุฒิหรือใบประกาศ เราก็คงต้องทำความสะอาดหรืองานรับจ้างไปตลอดแน่ ดิฉันมีความมุ่งมั่นที่ต้องการจะใช้ความรู้ความสามารถ ปริญญาที่กว่าจะได้มาเมื่อปี 1980 นั่น และรับราชการครูที่เมืองไทยมาใช้ที่นอร์เวย์ ด้วยความตั่งใจไม่ย่อท้อ ดิฉัน ก็ได้ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Oslo ในสาขาการศึกษาพิเศษ เรียนด้วย ทำงานด้วย ใช้เวลา 2 ปีและก็ได้บรรจุเป็นข้าราชการประจำของโรงเรียนประถม ในสาขาครูศิลปะนอกจากนี้ ดิฉันก็เป็นครูสองภาษาในโรงเรียนหลายแห่งและที่ภูมิใจมากในการเป็นครู คือได้สอนวิชาสังคมนอร์เวย์ให้ คนไทยโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการให้คนไทยทุกคน ก่อนที่จะได้วีซ่าถาวรต้องผ่านคอร์สวิชาสังคมซึ่งเป็นภาษาแม่ เป็นเวลา50ชั่วโมง ดิฉันดีใจที่มีโอกาสได้แนะนำ ชี้แนะคนไทยที่เพิ่งมา ได้เข้าใจวัฒนธรรม กฏระเบียบของนอร์เวย์ เพื่อได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และการปรับตัวได้ดีขึ้น และสิ่งที่ดิฉันภูมิใจที่สุดของความเป็นครู คือ ดิฉันได้รับเกียรติได้เขียนตำราเรียนภาษาไทยกับครู ชนกกมล ยูอร์ท โพธิ์ศรี ให้กับสำนักพิมพ์โดยเป็นการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศนอร์เวย์เพื่อเด็กไทยที่ตามผู้ปกครองมาอยู่ที่นี่ หนังสือชื่อ ภาษาแม่ค่ะ

สำหรับการเรียนภาษานอร์เวย์นั้น การอ่านจะอ่านไม่ยากเพราะออกเสียงสระทุกตัว แต่หลักภาษาก็ยุ่งยากเหมือนทุกๆภาษาค่ะแต่การเรียนรู้ในชีวิตดิฉันคิดว่าคงไม่มีวันจบหรอกค่ะ การได้ภาษาจะทำให้เราได้มีความรู้ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ได้รู้กฏระเบียบ ข่าวสาร กว้างไกลและทันโลกทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา และการอยู่ที่ไหนก็ควรฝึกหัดเรียนภาษาที่นั่นเพราะง่ายกับการทำงาน เจ้าบ้านเองเขาก็ภูมิใจในภาษาของเขา คนนอร์เวย์ก็จะชื่นชมคนไทยที่พูดภาษานอร์สมากกว่าที่จะไปใช้ภาษาอังกฤษพูดกับพวกเขา นอกจากนี้การได้ภาษาสามารถเข้าเรียนศึกษาต่อ เพิ่มเติมวุฒิการศึกษาและเป็นการพัฒนาตนเองอย่างดีเยี่ยม
ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่ามันยากไหมสำหรับการที่คนไทยต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตแบบคนนอร์เวย์ แล้วถ้ามันยาก มันยากยังไง และอะไรเป็นเรื่องที่ปรับตัวยากที่สุด
เรื่องการปรับตัวของการใช้ชีวิตในต่างแดนของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไป พอดีดิฉันเป็นครูสอนวิชาสังคมนอร์เวย์ให้แก่คนไทยที่เพิ่งอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นอร์เวย์ ซึ่งเรียกว่าคอร์สวิชาสังคม 50 ชั่วโมง ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจวัฒนธรรมของนอร์เวย์มากขึ้น รัฐบาลจะจ้างครูไทยมาอบรมสัมมนาแล้วไปสอนคนไทย โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการสอน และนี่คือทางลัดให้คนไทยได้เข้าใจลึกซึ้งถึงสังคมและวัฒนธรรมของนอร์เวย์ได้เร็วและชัดเจนยิ่งขึ้น

ถ้าเราจะพูดถึง”สังคม” ในแต่ละสังคมก็จะมีวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียม ประเพณี กฎระเบียบและรวมไปถึงกฎหมายเป็นของตนเอง เมื่อคนไทยได้มาเรียนวิชาสังคมนอร์เวย์แล้ว ก็จะต้องสอบให้ผ่าน เผื่อที่จะไปขอวีซ่าถาวร กฏระเบียบนี้เพิ่งเริ่มใช้เมื่อปี 2005 ซึ่งทั้งนี้ก็เหมือนเป็นการบังคับให้คนต่างชาติได้เข้าใจสังคมนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสังคมใหม่ ระเบียบใหม่ แล้วการปรับตัวเข้าสังคมก็ทำให้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่ในช่วงที่ดิฉันมาในปี 1986 ช่วงนั้นไม่มีวิชาสังคมให้เรียนดิฉันต้องค้นคว้า อยากรู้ อยากเห็น คอยมองคนข้างบ้าน คอยถามเพื่อนที่ทำงาน ในตอนนั้นดิฉันต้องเรียนรู้แข่งกับลูกๆ เพราะเราเป็นผู้ปกครอง ต้องดูแลอบรมลูกให้อยู่ในสังคมใหม่ เพื่อลูกๆจะได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แก้ปัญหาได้ถูกและเรียนรู้ให้ถูกต้อง ดิฉันเหมือน วิ่งมาราธอนทั้งวิ่งทั้งเดินเข้าสังคมใหม่ลองผิดลองถูกเสียเองดีกว่าต้องให้ลูกไปเผชิญเอง อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมากับตนเอง จึงทำให้ดิฉันเข้าใจสังคมนอร์เวย์ได้เป็นอย่างดี และดิฉันดีใจมากที่ได้มีโอกาสได้ถ่ายทอดประสบการณ์และสอนวิชาสังคมให้คนไทยที่เพิ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นอร์เวย์

การปรับตัวที่ค่อนข้างยาก สำหรับคนไทย คือ การอบรมเลี้ยงดูเด็กและดูแลคนในครอบครัว หรือที่เรียกว่า ” สถาบันครอบครัว “วัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กของไทยและนอร์เวย์จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างสองวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมของเรา (ไทย) ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีความสำคัญต่อครอบครัว แต่วัฒนธรรมของฉัน(นอร์เวย์) เด็ก มีความสำคัญมากที่สุด เป็นใจกลางของครอบครัว ซึ่งจะไปสอดคล้องกับคำที่ว่า ” เด็กฉลาด ชาติเจริญ” สังคมนอร์เวย์ให้ความสำคัญต่อเด็กมากที่สุด ที่นอร์เวย์จะมีคำพูดที่ว่า ” เด็ก คือ ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ” คนไทยเราเติบโตมากจากวัฒนธรรมของเรา ผู้ใหญ่บังคับเด็ก ตีเด็กได้ เหมือนคำพังเพยที่ว่า ” รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ” ลูกใคร ใครก็รัก เด็กคือเด็กตัวเล็กๆ ต้องทำตามคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ เด็กไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง เมื่อมาเราอยู่สังคมใหม่ทำให้คนไทยเราเกิดความสับสน ปฏิบัติตนเองกับลูกและคนในครอบครัวไม่ถูกต้อง เช่น สั่งสอนโดยการตี ขู่ และการทำร้ายคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างรุนแรงที่นอร์เวย์ ก็จะทำให้เกิดเป็นปัญหาไม่เข้าใจกันในครอบครัวและอาจทำให้ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิตในต่างแดนได้

สังคมนอร์เวย์เหมือนสังคมใจแคบ เพราะพวกเขาเติบโตมาจากวัฒนธรรมของฉัน ฉันปกครองตนเอง ฉันรับผิดชอบตนเองและคนในครอบครัวของฉัน ซึ่งเป็น “ครอบครัวย่อย” มีแค่ พ่อ แม่ลูก ขยายไปอีกหน่อย ก็เป็นปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งไม่ต้องรับภาระเยอะ ทุกคนดูแลรับผิดชอบตนเอง ก็จะทำให้ลูกมีบทบาทและได้รับความดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับคนไทย เราโตมาจากวัฒนธรรมของเรา ลักษณะครอบครัวของเรา จะเป็น “ครอบครัวขยาย” คือ เริ่มจากครอบครัวย่อยแล้วขยายไปถึง ญาติ พี่ ป้า น้าอา ลูกพี่ ลูกน้อง ญาตินับถือ ฉะนั้นความรับผิดชอบจะขยายวุ่นวาย หาขอบเขตไม่ได้ ถ้าไม่นับญาติ ก็เหมือนคนไร้ญาติ ขาดมิตร ไม่เป็นคนดี
การเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นสำคัญมาก ถ้าคนไทยที่อยู่ต่างแดนสามารถบอกได้ว่าที่นอร์เวย์เป็นแบบนี้ ที่ไทยป็นแบบนั้น แล้วเลือกใช้วัฒนธรรม ขนมธรรมประเพณี ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ต่างๆที่เหมาะสม โดยวิธีผสมผสานบูรณาการของสองวัฒนธรรมมาปฏิบัติกับคนในครอบครัวและใกล้ชิด ก็จะทำให้การปรับตัวส่งผลดีและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขเช่น คนไทย เป็นคนอ่อนน้อม ยิ้มง่าย อัธยาศัยดี เลือกนำสิ่งนี้มาใช้ที่นอร์เวย์ก็จะส่งผลดีอย่างแน่นอน แต่ถ้าคนไทย นำนิสัยรักรื่นเริง ปาร์ตี้ง่าย เพื่อนเป็นใหญ่ ไม่รักษาเวลา มาใช้ที่นอร์เวย์อันนี้ก็จะอาจเป็นปัญหากับการปรับตัวในสังคมและเป็นปัญหากับคนในครอบครัวได้

ในความคิดของดิฉัน คิดว่า การปรับตัว โดยการผสมผสานบูรณาการสองวัฒนธรรมจะส่งผลดีในชีวิตในต่างแดน คนไทยเราโชคดีที่สามารถเลือกสิ่งที่ดีเอามาผสมผสานบูรณาการมาใช้ได้ แต่เจ้าของประเทศเสียอีกที่ไม่มีโอกาสได้เลือก เพราะมีเพียงแค่วัฒนธรรมเดียวที่เขามีอยู่ในสังคมของเขา ฉะนั้นเราคนไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตในต่างแดน เพราะเราได้เปรียบที่อยู่ในสองวัฒนธรรม เราจะทิ้งวัฒนธรรมของไทยที่ดีงามของเราเราก็ทำไม่ได้ แล้วเราจะไปรับวัฒนธรรมใหม่ทั้งหมด เราก็เอามาใช้กับญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านที่ไทย คนไทยที่เมืองไทยก็ใช่จะรับได้ เพราะคนไทยอยู่อย่างไทยใช้ชีวิตอย่างไทย นี่เป็นแค่ความคิดและมุมจากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตในต่างแดนมาเป็นเวลา 30 ปีค่ะ
ที่ที่คุณอยู่มีคนไทยอาศัยอยู่เยอะไหม และพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่สบายดีไหม คุณได้คบกับคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่นหรือเปล่าครับ
ในปัจจุบันนี้ระยะทางใกล้ไกลดิฉันเห็นคนไทยไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะมีวัดเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจคนไทย ดิฉันอยู่ไม่ไกลจากวัดไทยนอร์เวย์ Watthai Norway ก็ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมเทศกาลทางศาสนาและตามโอกาสต่างๆ

นอกจากดิฉันได้มีโอกาสร่วมทำงานในกลุ่มสมาคมสตรีไทยในนอร์เวย์โดยจิตอาสา ได้จัดกิจกรรมเพื่อคนไทยเพื่อให้ข้อมูลทางกฎหมายใกล้ตัว แนะนำการปฏิบัติตนอย่างความถูกต้องในสังคมให้คนไทยในนอร์เวย์ เช่น จัดอบรมกฎหมายสัญจรในเมืองใหญ่ๆในนอร์เวย์ โดยการสนับสนุนจากสถานฑูตไทยในนอร์เวย์ และขอความร่วมมือจากหน่วยราชการของแต่ละเมืองเช่น ฝ่ายคุ้มครองเด็ก ทนาย ฝ่ายบ้านพักฉุกเฉิน มาเป็นวิทยากรในการอบรมของแต่ละครั้ง
ด้วยอาชีพของความเป็นครู ในนามของ “ครูต้อย” ดิฉันก็ได้สอนคนไทยในเขต Oslo และในเขตใกล้เคียง ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับคนไทยเป็นจำนวนมาก ในโอกาสที่ดิฉันได้สอนสังคมนอร์เวย์ให้คนไทยที่เพิ่งมาใหม่ ดิฉันก็ใช้เนื้อที่และโอกาสตรงนั้นแนะนำสั่งสอนให้คนไทยรักกัน ดูแลช่วยเหลือกันการปรับตัวที่ง่ายๆในห้องเรียนที่เราใช้ภาษาเดียวกัน เติบโตมาในแผ่นดินไทยด้วยกัน มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนกัน ฉะนั้นพวกเราต้องปรับตัวกันให้เข้ากันได้ในสังคมเล็กๆภายในห้องเรียนนี่ก่อน ก่อนที่พวกเราจะต้องออกไปปรับตัวในสนามใหญ่ ในสังคมในนอร์เวย์ เมื่อออกจากห้องไป

ในยุคไฮเทคนี้ มี Facebook มี Line ทำให้คนไทยในนอร์เวย์ไม่เงียบเหงาเหมือนภูมิประเทศ(หนาวและมีประชากรแค่ 5ล้าน)ทำให้คนไทยสื่อสารติดต่อกันได้ง่ายและทั่วถึง เกิดความอบอุ่นใจ และมีความมั่นใจในการดำรงชีวิต การรวมตัวจัดกิจกรรมต่างๆการรักษา ภาษาไทย ” ภาษาแม่” และรักษาสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ลูกหลานเยาวชนที่อยู่นอร์เวย์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ที่เมืองไทยแต่คนไทยก็ไม่เคยลืมสิ่งที่ดีงามของความเป็นคนไทยของเรา โดยมีเครือข่ายจากสมาคมต่างๆ ของในแต่ละเขตทั้งประเทศทำงานร่วมกันด้วยจิตอาสา ดูแลให้กำลังใจกัน แนะนำกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง เป็นสิ่งดีงามของความเป็นคนไทย
” มนุษย์” (คนไทย) ก็เหมือน “ต้นไม้ ” ถึงจะย้ายไปตั้งรกรากที่ไหนก็จะเจริญงอกงามของความเป็นไทย แต่เราก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม ต้นไม้หรือมนุษย์ก็ต้องปรับสภาพเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ถ้าอยู่โดดเดียวตามลำพังก็จะเงียบเหงาต้านลมต้านปัญหาตามลำพัง แต่ถ้าเราจับมือกัน อยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันเราก็จะอบอุ่น ดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ฉันใด ดิฉันก็อยากให้คนไทยในต่างแดนรักกัน ดีใจที่เราได้มาพบเจอกัน นิ้วคนเราเองยังไม่เท่ากัน ทุกคนมีส่วนดีบ้างส่วนเสียบ้าง คำว่า “เพื่อน” มีประโยชน์เหลือหลาย เพื่อนเป็นได้หลายอย่าง เช่น ทำอาหารอร่อยๆ เป็นที่ปรึกษา เป็นนายธนาคาร เป็นโชเฟอร์ ฯลฯ ใครยังไม่มีเพื่อน รีบหาเพื่อนเยอะๆ นะคะ แต่ที่สำคัญเราต้องทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีด้วยค่ะ เพราะตอนนี้กำลังมีเพื่อนจ้องที่จะเป็นเพื่อนเราอยู่ค่ะ

อะไรที่คนนอรเวย์ชอบ และคุณบอกผมได้ไหมว่าผู้ชายนอรเวย์ เป็นอย่างไร ผู้หญิงนอรเวย์เป็นอย่างไร และครอบครัวของคนนอรเวย์เป็นอย่างไร
ในความคิดส่วนตัวของดิฉัน คนนอร์เวย์เป็นที่มีความรับผิดชอบสูงมาก การอบรมสั่งสอนดูแลเด็กในครอบครัวจะให้เด็กรู้จักรับผิดชอบจากการกระทำของตนเอง รู้จักจิตใต้สำนึก จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น ถ้ามือถือใครหล่นหาย ถ้าผู้ใดพบเห็นเขาก็จะนำไปคืน เพราะสงสาร เจ้าของที่ทำมือถือหาย เพราะในมือถือคงมีรูปสัตว์ รูปครอบครัวที่เจ้าของเขารัก เด็กจะรู้ใจเขาใจเราสงสารมากกว่าราคาของมือถือ และ ถ้าเอามือถือของคนอื่นไปใช้ ก็จะรู้สึกไม่สบายใจ คนอื่นไม่รู้แต่ตนเองจะรู้ว่าตัวเองทำผิดเป็นต้นค่ะ
คนนอร์เวย์จะชอบธรรมชาติมาก เมื่อครอบครัวมีเวลาพร้อมกันเขาก็พากันไปเล่นสกี เดินป่า วัฒนธรรมการมีบ้านพักบนเขาก็สืบทอดกันมา คนนอร์เวย์จะสอนให้เด็กๆรักธรรมชาติ รักสัตว์โดยส่วนรวมคนนอร์เวย์จะไม่ใช้ชีวิตหรูหรา ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและมีความเป็นส่วนตัวมาก
ผู้ชายนอร์เวย์ จะชอบอยู่กับครอบครัว ถ้าลูกยังเล็กๆ ก็จะใช้เวลาหลังเลิกงานในการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆของเด็ก เช่น รับส่งลูก งานวันเกิด เล่นดนตรี กีฬาต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องช่วยลูกทำการบ้าน ฉะนั้นผู้ชายนอร์เวย์จะต้องมีส่วนร่วมเต็มตัวกับการสร้างครอบครัว เวลาจะถูกผูกขาดไปกับครอบครัว

ค่าครองชีพที่นอรเวย์เป็นอย่างไร อะไรที่คุณคิดว่ามันแพงเกินไป (3 things) และอะไรที่คุณคิดว่ามันมีคุณค่าเหมาะสมกับราคา (3 things)
ค่าครองชีพที่ประเทศนอร์เวย์สูงมากติดระดับโลก
1. จอดรถแพงมากค่ะ ที่จอดรถในเซ็นเตอร์เมืองหลวงจอดรถชั่วโมงละ 80 ครูเนอร์ ตก ชั่วโมงละประมาณ 300 บาท ถ้าไปShopping หลายชั่วโมงก็ตกเป็น 1000 บาท
2. ค่าโดยสารเดินทาง ค่าTaxi เช่น ค่า taxi ระยะทาง 20 ก.ม.ประมาณ 500-600 kr / 2000 กว่าบาท แพงมากมาก อาจแพงกว่านี้ถ้ารถติดค่ะ
3. บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แพงมาก นอกจากนี้ทานอาหารนอกบ้านแพงมาก เพราะเงินเดือนพนักงานสูงค่ะ

ค่าครองชีพที่เหมาะสมกับราคา
เสื้อผ้า เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยแพง ราคาพอๆ กับประเทศไทย
ราคาอาหารที่จำเป็น เช่น นม ขนมปัง ผัก ผลไม้ เพราะรัฐบาลจะคิดภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยมาก
ค่ารักษาพยาบาล ถ้ามีโรคประจำที่ต้องใช้ยาประจำ รัฐบาลจะช่วยจ่าย และเมื่อจ่ายถึงยอดกำหนดต่อปี จากนั้นก็จะได้ใช้ยาและค่าพบหมอฟรีตลอดทั้งปี

บอกข้อดี 3 ข้อของการใช้ชีวิตอยู่ในนอร?เวย์ตามความคิดเห็นของคุณ – บอกข้อเสีย 3 ข้อของการใช้ชีวิตอยู่ในนอรเวย์ครับ
การใช้ชีวิตที่นอร์เวย์ในความคิดของดิฉัน เหมือนการใช้ชีวิตที่เดินตามรอยพ่อ คือ พอเพียงและสมดุล การใช้ชีวิตที่พอเพียงที่นอร์เวย์ คือ พอใจในชีวิตที่มีอยู่กับครอบครัว คือไม่ถึงต้องดิ้นรนมากมาย เพราะระบบรัฐสวัสดิการ สอนให้เราใช้เวลาทำมาหากินตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ใช้เวลาให้มีความสุขกับครอบครัวนั้นจะสมดุลกัน ถ้าคุณทำงานหามรุ่งหามค่ำคุณก็เสียภาษีเยอะแล้วไม่มีเวลาให้ครอบครัว อาจทำให้ครอบครัวล้มเหลวและไม่มีความสุข แต่ถ้าคุณทำงานตามปกติและแบ่งเวลาให้ลูกและครอบครัวก็จะทำให้การชีวิตนั้นสมดุล มีเวลาให้กับครอบครัวสถาบันครอบครัวมีความหมายมากค่ะ ต้องมาก่อน

ข้อดี 3 ข้อ ของการใช้ชีวิตอยู่ในนอร์เวย์ ได้แก่
ระบบรัฐสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้จากการบริการของรัฐโดยทั่วหน้ากัน เช่น ระบบการศึกษาของเด็กที่ไม่มีค่าใช้จ่ายการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และทุกคนมีเงินเกษียณยามแก่ชรา ซึ่งจะมากหรือน้อยแล้วแต่ระยะการทำงานและรายได้ในการทำงานของแต่ละคน
การดูแลเด็กและครอบครัว มีฝ่ายคุ้มครองเด็ก มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการทำร้ายร่างกายและจิตใจ
มีกฎหมายการขับขี่และการจราจรที่เข้มแข็ง กวดขันมาก ทำให้ทุกคนมีความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนและการเดินทาง

ส่วนข้อเสีย 3 ข้อของการใช้ชีวิตอยู่ในนอร์เวย์
ดิฉันคิดว่าค่าครองชีพแพงมาก การดำเนินชีวิตควรยึดหลักพอเพียง ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าไฟค่าฟืนเพื่อทำความอบอุ่น ซึ่งนอร์เวย์เป็นประเทศที่หนาวเย็น และค่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม หลังจากนั้นถึงจะได้มีโอกาสใช้จ่ายสิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือหรูหราได้ ฉะนั้นการใช้ชีวิตจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟุ่มเฟือย
ความหนาวเย็น ซึ่งนอร์เวย์จะมีอากาศหนาวเย็นและมืดเป็นระยะเวลานานในช่วงของปี และจะมีระยะที่อุ่นหรือมีแสงแดดน้อยร่างกายของมนุษย์ต้องการแสงแดดและความอบอุ่น ฉะนั้นอาจจะทำให้คนที่นอร์เวย์เป็นโรคซึมเศร้าและขาดแสงแดดได้ง่ายและการเดินทางก็ค่อนข้างจะลำบาก ไม่สะดวกในช่วงหน้าหนาว

สังคมในนอร์เวย์จะแคบไม่หลากหลายมีสีสันเหมือนเมืองไทยคนนอร์เวย์จะมีเพื่อนไม่เยอะ รู้จักคนยาก ไม่เปิดใจ และยากที่จะรับเป็นเพื่อนใหม่ แต่ถ้าเป็นเพื่อนแล้ว ก็จะเป็นเพื่อนกันไปจนตาย ถึงจะย้ายไปไกลแค่ไหน ก็จะยังเป็นเพื่อนอยู่ตลอดไปฉะนั้นการใช้ชีวิตที่นอร์เวย์สำหรับคนไทย ก็จะทำให้เกิดความเหงา คิดถึงเพื่อนๆที่เมืองไทย คิดถึงความสนุกเฮฮา ที่เราเคยมี

อะไรคือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนนอรเวย์ในเรื่องของความโรแมนติก
ความแตกต่างระหว่างคนไทยและคนนอร์เวย์ โดยทั่วไปก็จะเป็นเรื่องวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องใหญ่เมื่อคนไทยต้องโยกย้ายอพยพมาอยู่ต่างประเทศ และโดยเฉพาะย้ายมาเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว
การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่จะเป็นไปได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ถ้าเราเอา ” ความรัก” ซึ่งกันและกันมาวางตรงกลาง เจอกันคนละครึ่งทางระหว่างภาษาและวัฒนธรรม โดยให้เวลาซึ่งกันและกัน แค่นั้นดิฉันว่าความโรแมนติกก็จะจุดประกายทันที

“ความเข้าใจ”ซึ่งกันและกัน บางครั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษามองตากันก็จะเข้าใจกันว่าอีกฝ่ายชอบหรือไม่ชอบ
พอใจหรือไม่พอใจและมีความรู้สึกอย่างไร
ในวัฒนธรรมของไทยเรา จากการอบรมสั่งสอนเด็กเราจะไม่ชอบให้เด็กมองหน้าและสบสายตา เพราะถือว่าไม่สุภาพ ฉะนั้นเด็กผู้หญิงไทยจะไม่มีประสบการณ์ในการใช้สายตาในการสื่อสาร ไม่กล้าแสดงความรู้สึกผ่านสายตา แต่เมื่อโตเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้ชายไทยก็จะใช้วิทยายุทธ์นี้จีบสาว และเด็กสาวก็จะหลงรักทันที หรือรู้สึกว่าถูกจีบ และคิดว่าผู้ชายแสดงความรักอย่างจริงจังแล้ว

แต่ในวัฒนธรรมของประเทศนอร์เวย์เด็กจะต้องมองผู้ใหญ่ เมื่อถูกอบรมสั่งสอน คนนอร์เวย์จะสื่อสารทางสายตาจากผู้ปกครองถึงลูกๆ และครูก็สั่งสอนและตักเตือนนักเรียนโดยการสื่อสารในการมองหน้ากัน ตอบรับกัน และในเรื่องของความโรแมนติก จะไม่เป็นปัญหา ถ้าคนไทยเข้าใจ “วัฒนธรรม การใช้สายตา”ถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ กับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ก็จะทำให้ความสัมพันธ์และความใกล้ชิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความสุขก็จะตามมา ปัญหาก็จะน้อยลงค่ะ
คนนอร์เวย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนโรแมนติก เพราะพวกเขาจะชอบอยู่กับธรรมชาติ รักบ้านและครอบครัว พวกเขาจะแต่งบ้านให้เป็นวิมานของพวกเขา มีความเป็นส่วนตัวสูง นั่นคือมีเวลาให้ครอบครัว พวกเขาจะภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีของเขามาก โดยเฉพาะ “วันชาติ” และเทศกาลต่างๆ จะยึดถือถ่ายทอดให้เด็กๆ และในช่วงพักร้อนและวันหยุดคนนอร์เวย์ก็จะพาครอบครัวไปพักผ่อนบนเขา เล่นสกี ทำกิจร่วมกันในครอบครัว
“โรแมนติก ” ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นระหว่างหญิงกับชาย แต่สามารถใช้ได้กับทุกคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด เพียงแต่เราเอาใส่ใจให้ความผูกพันใกล้ชิด มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสิ่งที่ดีมีความสุขให้กันและกัน นั่นคือ โรแมนติกที่แท้จริงแล้วค่ะ

คุณยังมีครอบครัวที่ยังคงอาศัยอยู่ที่เมืองไทยหรือไม่ ถ้ามี….คุณคิดถึงครอบครัวของคุณมากไหมและคุณคิดถึงเมืองไทยหรือเปล่าและสถานที่ไหนในประเทศไทยที่คุณชอบไปเที่ยวมาก
ดิฉันยังมีครอบครัวที่เมืองไทยและญาติพี่น้องที่อบอุ่นที่เมืองไทย หลังจากคุณพ่อคุณแม่เสียแล้ว ท่านได้ให้มรดกตกทอดที่สำคัญ คือให้พี่ๆน้องๆ ได้อยู่ร่วมกัน ดิฉันโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ให้เนื้อที่ปลูกบ้านให้กับลูกๆทุกคน พวกเราจึงได้มีที่อยู่อาศัยในบริเวณเนื้อที่ติดๆกัน ถึงดิฉันจะมาอยู่นอร์เวย์เป็นเวลา 30 ปี แต่ดิฉันก็มีบ้านเป็นของตนเอง เมื่อยามดิฉันและครอบครัวมาเมืองไทย ก็เหมือนมาพักผ่อนที่บ้านตนเอง

ที่จังหวัดพิษณุโลก ดิฉันเคยรับราชการครูมัธยมศึกษาในตัวจังหวัดมาเป็นเวลาเกือบ 9 ปี และมีเพื่อนๆที่เรียนร่วมชั้นกันในวัยเด็กก็ยังสนิทสนมรักใคร่ รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ และเพื่อนๆก็เคยมาเยี่ยมเยียนดิฉันที่นอร์เวย์ก็หลายกลุ่ม
ถึงแม้ดิฉันจะมาอยู่ประเทศนอร์เวย์ถึง 30 ปี แต่ดิฉันก็จะติดต่อและไปมาหาสู่กับครอบครัวที่เมืองไทยและเพื่อนที่เมืองไทยอยู่สม่ำเสมอ ทำให้ดิฉันมีความรู้สึกเหมือนอยู่ทั้งสองประเทศ เลยไม่มีความรู้สึกที่จะคิดถึงประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะรักและภูมิใจที่ได้อาศัยอยู่ทั้งสองประเทศ เมื่อมีเวลาและโอกาสดิฉันก็จะท่องเที่ยวในที่ที่ยังไม่เคยไปในทั้งสองประเทศค่ะ อย่างนี้ต้องบอกว่า”รักพี่เสียดายน้อง เลยรักทั้งพี่ทั้งน้อง” ค่ะ

คุณเคยรู้สึกไม่ปลอดภัยบ้างไหมขณะที่คุณอาศัยอยู่ในนอรเวย์ครับ
ที่นอร์เวย์ดิฉันรู้สึกปลอดภัย ในการใช้ชีวิตที่นี่มากค่ะ เพราะการดำเนินชีวิตที่นอร์เวย์รัฐบาลและสังคมจะช่วยบังคับการดำเนินชีวีตที่มีขอบเขต ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่น การขับขี่ ความปลอดภัยบนท้องถนน รัฐบาลจะมีกฎหมายบังคับที่แข็งแรงมาก
มีสวัสดิการดูแลประชาชน การดำรงชีวิตที่ไม่มีคนอดอยากความเหลื่อมล้ำของสังคม รัฐบาลมีระบบการเสียภาษี มีเงินกองกลางมาช่วยเหลือ “คนรวยช่วยคนจน ” เหมือนเป็นการทำบุญโดยรัฐบาลเป็ยฝ่ายจัดการระบบความเท่าเทียมกัน และหลักประชาธิปไตยที่นอร์เวย์มีความชัดเจนมากค่ะ และอาจจะเป็นเพราะประเทศนอร์เวย์มีประชากรน้อยการควบคุมจึงไปได้ทั่วถึง

แต่คงจะต่างจากไทยที่ประชากรของไทยเรามาก รัฐบาลคงยังไม่สามารถ ควบคุมและกำหนดให้ใช้กฎหมายที่ชัดเจนได้
ความรู้สึกที่จะไม่ปลอดภัยในบางครั้งในยามค่ำคืนเมื่อเข้าไปในOslo หรือเมืองใหญ่เพราะมีคนหลากหลาย แต่ดิฉันอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ผู้คนรู้จักกัน ไปไหนก็ทักทายและมีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่เมืองไทยค่ะ
สถานที่ไหนในนอรเวย์ที่คุณชอบไปเที่ยวมาก – นอรเวย์สวยไหมครับ
ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศ ที่มีธรรมชาติที่สวยงามมากค่ะนอร์เวย์มีฟยอร์ด มีภูเขา มีน้ำตก มีทะเลสาป และมี 4 ฤดู ความสวยงามแต่ละฤดูก็จะงดงามสวยแตกต่างกัน และแต่ละภาคก็จะมีภูมิภาคที่บ่งบอกสวยงามแตกต่างกัน เช่น ทางเหนือก็จะมีแสงเหนือ เป็นสิ่งมหัศจรรย์สวยงามมาก และยังเป็นเขตของแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน จะสว่างทั้งกลางวันกลางคืน เป็นต้น

ส่วนทางตะวันตกก็จะมีฟยอร์ดสวยงามมาก มีสายรถไฟสายโรแมนติก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนทั่วโลก
สำหรับดิฉันไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าชอบไปที่ไหนมาก เพราะดิฉันไปมาหลายแห่ง ทุกแห่งมีความสวยงามแต่งต่างกัน ดิฉันอยากไปทุกที่ ขอแค่ให้มีโอกาสค่ะ และที่ดิฉัน ประทับใจมากคือ มีโอกาสได้ไป Svalbard สวาลบาร์ด ซึ่งเป็นหมู่เกาะของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากเลยค่ะ
อะไรคือสิ่งที่คุณรัก และอะไรคือสิ่งที่คุณชอบทำในยามว่างของคุณ
สิ่งที่ดิฉันรักในตอนนี้คือ คนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกหลานดิฉันภูมิใจในชีวิตมากที่เห็นลูกหลานมีความสุข นอกจากนี้ก็จะเป็นครอบครัวขยายที่ญาติพี่น้องรักใคร่ปรองดองกัน การใช้ชีวิตในต่างแดนถ้าเรามีครอบครัวที่อบอุ่น มีญาติพี่น้องรักใคร่ไปมาหาสู่กัน ถึงจะอยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขค่ะ
ในยามว่างของดิฉันก็จะใช้เวลาติดต่อส่งข่าวคราวถึงเพื่อนและญาติที่เมืองไทย ส่งข่าวสารถึงกันและกัน ระยะทางไม่ได้เป็นปัญหาในการติดต่อกัน แต่ปัญหาคือเวลา ว่าเราจะมีเวลาให้ซึ่งกันและกันหรือไม่ การแลกเปลี่ยนข่าวสารในทางที่ดีก็ทำให้เราได้ประโยชน์มากมาย และบางครั้งอาจทำให้เราลืมไปเลยว่าตอนนี้เรานั่งอยู่ที่ไหนในส่วนของโลก ดิฉันชอบศึกษาหาข้อมูลข่าวสารทาง อินเตอร์เน็ต ทำให้เรามีประสบการณ์ที่จะเลือกเสพและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ ทันโลกทันเหตุการณ์ค่ะ
นอกจากนี้ดิฉันจะชอบการเย็บปักถักร้อย ก็ถักเล็กๆน้อยๆให้หลานใส่ ด้วยความภูมิใจของคุณยายน่ะค่ะ

ผู้หญิงไทยบางคนคิดว่าการย้ายมาอยู่ยุโรป / นอรเวย์ จะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น คุณมีคำแนะนำที่จะบอกผู้หญิงไทยที่คิดแบบนี้อย่างไร และคุณมีคำแนะนำอะไรที่จะแนะนำให้พวกเขาต้องระมัดระวังบ้างไหม
ดิฉันเห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงไทยบางคนได้มีโอกาสมาอยู่ที่ยุโรปหรือที่ประเทศนอร์เวย์ ในความคิดของดิฉันคิดว่าจะ ทำให้ชีวิตดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน
มีโอกาสเหมือนเท่าๆกัน และเป็นการท้าทายความสามารถของตัวบุคคลที่ได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้เรายังได้เป็นตัวแทนของคนไทยได้มาผสมผสานวัฒนธรรมที่ดีงามให้ต่างประเทศได้เห็นและรู้จักประเทศไทยที่เรารักด้วยตัวของเราเอง

ที่ประเทศอื่นในยุโรปดิฉันไม่แน่ใจ แต่ที่ประเทศนอร์เวย์คุณภาพของชีวิตของคนไทยที่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์นั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอนค่ะ เพียงแต่บางคนอาจจะยังไม่ทราบสิทธิของตนเอง หรืออาจจะเจอปัญหาในช่วงแรก หรืออาจมีปัญหาในการปรับสภาพเข้ากับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศนอร์เวย์ และนั่นคือปัญหาในช่วงแรกๆ ที่ทุกคนคิดว่าเป็นความทุกข์ โชคไม่ดี โชคร้าย เปรียบเหมือนกับทางเดินไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบอย่างที่ตนคาดคิดไว้ การย้ายมาอยู่ต่างประเทศ ต้องให้คิดเสมอว่าเหมือนเราออกไปท้าทายกับโลกภายนอก เราต้องเตรียมความพร้อมหลายๆด้านว่าเรามีวิทยายุทธ์อะไรบ้าง เราต้องพร้อมที่จะแก้ปัญหาอยู่เสมอ เราต้องคิดไว้ล่วงหน้าไว้บ้างว่าเราจะต้องไปเจออะไร เราจะแก้อย่างไรไม่ใช่แค่คิดว่า เราโชคดีเจอฝรั่ง จะไปอยู่ยุโรปหรือนอร์เวย์เราควรศึกษาประเทศนั้นๆไว้ล่วงหน้า เช่น ภาษา วัฒนธรรม อาหารอากาศ ภูมิประเทศ ลักษณะของสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราสามารถตั้งโจทย์เองได้ และลองศึกษาหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อนตัดสินใจย้ายมา เตรียมคำตอบที่สำคัญ คือ สู้ ลุย เตรียมพร้อมที่จะแก้ปัญหาและปรับสภาพเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมนั้นๆแม้แต่จิ้งจก ตุ๊กแกและแมลงหลายชนิดก็ยังต้องปรับเปลี่ยนสีเพื่อความอยู่รอด เหมือนสุภาษิต ที่ว่า “เข้าเมืองหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม “

สิ่งที่ควรระวัง คือ การคาดหวังในการย้ายมาอยู่กับสังคมใหม่ประเทศใหม่และวัฒนธรรมใหม่ อยากให้เปลี่ยนเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ถ้าเราไม่คาดหวังมากมาย ทำให้ดีที่สุดเมื่อเจอปัญหาก็แก้ไป อย่าท้อ ปัญหามีไว้แก้ ท้าทายความสามารถ ผลลัพธ์ออกมามาก็จะมีแต่ความพอใจและความสุขค่ะ
เมื่อย้ายมาอยู่ในต่างประเทศเราต้องปรับเข้าสังคมใหม่ สังคมไทยของเราเดี๋ยวตามมาเองเพราะด้านนี้เราถนัดอยู่แล้วพยายามโน้มนาวให้คนใกล้เคียงของเรามาเจอกันคนละครึ่งทางให้โอกาสกันทั้งสองฝ่าย แล้วความขัดแย้งก็เกิดไม่มากค่ะ เราอย่าหวังว่าเขาจะเข้าใจสังคมไทยเราเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ประเทศไทย แต่เราอยู่กับประเทศของเขา เราควรให้ความสนใจและความสำคัญของสังคมใหม่ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ฝึกบ่อยๆ แล้วการดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ ชินกับปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของวัฒนธรรม การเข้าใจผิดด้วยการสื่อสาร สภาพแวดล้อมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดิฉันหวังว่าจากแนวความคิดและประสบการณ์ของการใช้ ชีวิตในต่างแดนมา30 ปีของดิฉัน ได้เป็นแนวคิดและเป็นประโยชน์กับผู้หญิงไทยทุกท่านที่คิดจะย้ายมาอยู่ต่างประเทศหรือที่อยู่ต่างประเทศ สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแค่ความคิดของดิฉันที่ใช้เท่านั้นนะคะ ซึ่งก็อาจจะล้าหลังไปบ้างก็ได้ค่ะ ทุกอย่างเป็นเพียงการเล่าประสบการณ์สู่กันฟัง ของให้ทุกท่านโชคดีค่ะ

ชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศนอร์เวย์ บทสัมภาษณ์น่าอ่านจากคนไทย
เพิ่มเติม
การใช้ชีวิตและการทำงานในต่างประเทศ
นี่คือคู่มือติดต่อที่ต้องมีสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในต่างประเทศซึ่งรวบรวมรายชื่อติดต่อและข้อมูลที่สำคัญ
การใช้ชีวิตและการทำงานในต่างประเทศ
หาคู่ชาวต่างชาติ
ผมจะให้รายชื่อผู้ติดต่อที่สำคัญตามความต้องการและความชอบส่วนบุคคลของคุณ ตัวอย่าง – ” ฉันกำลังมองหาคู่ชีวิตที่มาจากประเทศแคนาดา อเมริกา หรือ เนเธอแลนด์ ”
การวางแผนการเดินทาง
ไม่ว่าจะคิดจะไปเที่ยวเมืองหรือพื้นที่ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปที่นั่นหรือสนใจแค่เที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกก็อย่าออกจากบ้านโดยไม่มีแผนการเดินทาง
ชีวิตหญิงไทยในต่างแดน เฟสบุ๊คเพจ
โปรดลงทะเบียนเพื่อรับThai Women Living Abroad ข่าวสารใหม่อย่างต่อเนื่อง
ดีใจ&ปลื้มคุณมากๆหญิงไทยมีค่าในต่างแดนหายากตัวอย่างทีดีจ้า
LikeLiked by 1 person
อ่านเรื่องราวและประสบการณ์ของครูต้อยแล้ว รู้สึกดีมากๆ ครูต้อยเป็นคนมองโลกในแง่ดี จากความรู้สึกที่ได้อ่านน่ะค่ะ ดิฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ขอบคุณที่ให้ความรู้และคำแนะนำค่ะ
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณมากครับ คุณ Lampai ด้วยความยินดีครับ
LikeLike
รู้สึกดีใจที่ครูต้อยเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับคนไทยในต่างแดน.
เรื่องราวที่ครูต้อยเขียน มีประโยชน์มากต่อคนไทยในต่างแดน และคนไทยคนต่อ ๆ ไป ที่จะได้มาใช้ชีวิตในต่างแดนค่ะ. (นุช Tromsø ค่ะ)
LikeLiked by 1 person